Unless You Try จุดเริ่มต้นของการเดินทางไป 3 ประเทศ ในเวลา 70 วัน แบบไร้แพลนใดๆ
ปกติเวลาที่เราเดินทางไปประเทศใดประเทศหนึ่ง ส่วนมากแล้วเราก็มักจะแพลนทุกอย่างไว้ให้เรียบร้อย เพื่อความอุ่นใจ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเดินทาง ที่พัก จุดท่องเที่ยว หรือบางทีแม้แต่ร้านอาหารต่างๆ แต่สำหรับหนุ่มนักเดินทางคนนี้ ทัช-ธีรัช วัฒนกิจรุ่งโรจน์ ในวัย 26 ปี เมื่อ 3 ปีที่แล้วเขาเปิดทริปด้วยกระเป๋า Backpack 1 ใบกับ กับแผนที่หนึ่งผืน รวม Pocket Money ระหว่างทริปเพียงแค่หลักหมื่น เพื่อไปเรียนรู้การใช้ชีวิตใน 3 ประเทศสุดหิน อย่าง พม่า-อินเดีย-เนปาล โดยที่ไม่รู้ว่าจะไปวันไหน และกลับเมื่อไหร่เลยด้วยซ้ำ
จุดเริ่มต้นของการเดินทาง...จากคอนเซ็ปต์ Unless You Try
ความจริงแล้วคอนเซ็ปต์นี้เริ่มมาจากทีสิสตอนเรียนจบ ‘เราเอาคอนเซ็ปต์ Unless You Try หันกลับมาถามตัวเองว่า เรายังไม่เคยลองทำอะไรบ้าง คอนเซ็ปต์ของมันคือเราพยายามกระตุ้นให้คนลุกขึ้นมาเรียนรู้ชีวิต ใช้ชีวิต พยายามให้คนลองออกนอกกรอบ ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เพื่อที่จะค้นหาว่าจริงๆ แล้วเราชอบอะไร เพราะถ้าเราไม่เคยลอง เราก็ไม่มีวันที่จะได้รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ’ ซึ่งพอเขาหันมาตั้งคำถามกับตัวเอง คำตอบที่ได้ก็คือ เขายังไม่เคยเดินทางคนเดียว ‘เคยดูในหนัง เห็นว่ามันได้เรียนรู้ชีวิตดี ได้อยู่กับตัวเอง ได้เปิดโลก เราก็เลยอยากลอง เลยตัดสินใจว่างั้นลองออกไปเดินทางคนเดียว แล้วถ้าจะไปก็ต้องไปให้สุด ก็เลยไปแบบไม่วางแผนอะไรเลย’
ทำไมต้องเป็น ‘พม่า – อินเดีย – เนปาล’
เหตุผลที่เขาเลือกเดินทางไป 3 ประเทศนี้ ไม่ใช่แค่เพราะมันอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่มันยังเป็นประเทศที่น่าสนใจ และค่อนข้างที่จะสวนกระแส ‘หนึ่งเพราะเราตั้งใจว่าจะเดินทางทางพื้นเท่านั้น ไม่มีการนั่งเครื่องบิน เลยต้องเริ่มจากประเทศที่อยู่ติดกับไทย สองอินเดียเป็นประเทศที่พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกไปมากที่สุดในโลก ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงไม่อยากไป แต่ด้วยความที่เราชอบสวนกระแส เขาไม่ชอบอะไรกัน เราก็จะไปที่นั่น แล้วรู้สึกว่าอินเดียเป็นประเทศที่รวยวัฒนธรรม มันมีความหลากหลาย มีสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยได้เรียนรู้ เราอยากไปเพื่อเรียนรู้ชีวิต ไม่ได้ไปเที่ยวพักผ่อน เราตั้งใจไปเพื่อเปิดโลกจริงๆ เลยคิดว่าอินเดียเป็นประเทศที่ตอบโจทย์ และก็ด้วยความที่อยากจบแบบเท่ๆ บนภูเขาหิมะ ก็เลยแพลนอยากไปจบที่เนปาล’ และเขาก็เริ่มจากการนั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปตาก ข้ามไปพม่า พยายามจะข้ามชายแดนไปอินเดีย แต่ช่วยนั้นมันมีสงคราม เลยทำให้ต้องเปลี่ยนแผนยอมขึ้นเครื่องบินไปลงที่ภาคใต้ของอินเดีย และค่อยๆ ขึ้นไปทางเหนือ จนไปถึงเนปาล
เมื่อลูกอยากลุย...แต่คนเป็นพ่อแม่ก็อดห่วงไม่ได้
เมื่อเราถามว่าแล้วการไปทริปแบบอันแพลนขนาดนี้ ตอนที่ไปบอกที่บ้าน พ่อแม่ว่ายังไงบ้าง ‘โห ทะเลาะดิพี่ พ่อจะเป็นสายชิว แนวไปเลย ลุย ไปลองใช้ชีวิต แต่แม่ก็จะห่วง ถึงเราเป็นลูกชายที่เคยไปเรียนแลกเปลี่ยนที่เม็กซิโกมาเป็นปี สกิลการเอาตัวรอดเราก็มีในระดับนึง แต่แม่ก็ยังเป็นแม่ แล้วประเทศมันคงดูอันตราย ไม่ปลอดภัยในสายตาเค้า แล้วเราดันไปแบบไม่มีแพลน ไปคนเดียว ไม่รู้ว่าจะกลับเมื่อไหร่ ติดต่อยังไง ไม่มีอะไรในหัวเลย ตอนนั้นก็ทะเลาะกันจริงจังเลยนะ แต่ก็บอกแม่ไปว่าสุดท้ายแล้ว เราขอลองใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตัวเองเลือก แต่เพื่อความสบายใจ ทุกครั้งที่ติดต่อได้ เราก็จะพยายามติดต่อกลับมาหาเขาเรื่อยๆ’ เขาบอกว่าถ้าเราอยากได้ชีวิตที่ตัวเองต้องการ บางครั้งก็ต้องสู้ แต่เราก็ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราได้อะไรจากการเดินทาง เราดูแลตัวเองได้มั้ย ซึ่งมันอาจจะเริ่มจากการดูแลตัวเองในเรื่องง่ายๆ ก่อน ‘เช่น ตื่นเช้ามาเก็บที่นอนหรือยัง ทำกับข้าวกินเองเป็นมั้ย หรืออาจจะเริ่มจากเที่ยวคนเดียวใกล้ๆ ก่อน ให้เขาเห็นว่าเราเอาตัวรอดได้นะ ไม่ต้องห่วง’ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เห็นว่าสุดท้าย เรากลับมาแล้วเราโตขึ้น เราสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง และคราวนี้ครั้งต่อๆ ไปมันก็จะเริ่มง่ายขึ้น
สิ่งที่เขาคาดหวังจากการเดินทางครั้งนี้
เมื่อเราถามถึงสิ่งที่เขาคาดหวังจากการเดินทางแบบไร้การวางแผนในครั้งนี้ว่าคืออะไร เขาตอบว่า ‘ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราจะได้กลับมามันคืออะไร แต่สิ่งที่เราแน่ใจคือเราต้องได้เรียนรู้อะไรซักอย่าง แต่แค่ยังไม่รู้ว่าเราจะได้เรียนรู้ในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง’ อย่างในช่วงวันที่ 2-3 ของการเดินทางที่พม่า เขาได้เจอกับฝรั่งชาวเยอรมันนอนสติแตกอยากฆ่าตัวตาย เดินไปเดินมาอยู่กลางถนนที่รถวิ่งกันขวักไขว่ ตอนนั้นมีคนพม่ามุงเต็มไปหมด แต่ด้วยความที่คนพื้นเมืองเขาอาจจะพูดภาษาอังกฤษกันไม่ได้ แต่เขาพูดได้ นั่นเลยทำให้เขาตัดสินใจเดินเข้าไปช่วยทันที ทั้งโบกรถ และพูดคุยสื่อสาร จนสุดท้ายได้คอนแทคกลับมา เพื่อครั้งหน้ามีโอกาสได้ติดต่อกัน และอีก 1 ปี ต่อมา ชาวเยอรมันคนนั้นก็ได้ inbox มาขอบคุณที่ในวันนั้นเขาช่วยชีวิตไว้
‘น้ำใจ’ สิ่งที่ได้รับตลอดการเดินทาง 70 วัน
‘ตอนแรกคอนเซ็ปต์เราคือเดินทางคนเดียว เราก็คาดหวังว่าเราจะต้องเดินทางคนเดียว แต่ในความเป็นตริงแล้วมันไม่มีแม้แต่วันเดียวเลยใน 70 วันที่เราได้อยู่คนเดียว สุดท้ายเราจะได้เพื่อนร่วมทาง คนนู้นคนนี้ ไปที่เดียวกัน นอนโฮสเทลเดียวกัน ได้อยู่ห้องเดียวกัน ได้คุยกัน บางคนสนิทกันถึงขนาดว่าข้ามเมืองไปด้วยกัน เดินทางกันต่อเป็นวีคๆ กางเต้นท์นอนด้วยกัน’ เขาเล่าว่ามีเพื่อนร่วมทางคนหนึ่งเป็นลูกครึ่งฝรั่งเศสจีน ได้เจอกันที่เมืองหนึ่งของอินเดีย เขาเดินทางมาจากเนปาล เพิ่งลงเขามา ในขณะที่ตัวเขากำลังจะขึ้นไปเนปาล มันสวนทางกัน คนนั้นเขามีอุปกรณ์การปีนเขาทุกอย่าง เสื้อหนัง รองเท้าปีนเขา อุปกรณ์ปีนเขาทั้งหมด หมวก ถุงมือ เขาก็เอามาให้ยืมหมดเลยแบบบฟรีๆ ซึ่งมูลค่ารวมๆ กันแล้วก็เป็นหมื่นๆ โดยเขาบอกว่าเอาไปเลย แล้วเดี๋ยวเมื่อไหร่ที่เขามาไทย เดี๋ยวเขาค่อยมาเอาคืน
‘กฎของแรงดึงดูด’ สิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็น ออร่า ที่สามารถเอาชนะความอันตรายต่างๆ ได้
‘เราเป็นคนที่เชื่อในกฎของแรงดึงดูด เราเชื่อว่าถ้าเราคิดดี ทำดี มองโลกในแง่ดี มันก็จะดึงดูดให้เรื่องดีๆ เข้ามาหาเรา อย่างก่อนเดินทางเราก็เชื่อว่าเรากำลังจะไปใช้ชีวิต กำลังจะเจอแต่เรื่องสนุกๆ หรือแม้แต่ถ้าเจอปัญหาระหว่างทาง มันก็จะเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้เรียรู้ พอเราคิดแบบนี้ มันก็จะมีแต่เรื่องดีๆ เข้ามาจริงๆ ปัญหาที่เข้ามา ให้มองว่ามันคือความท้าทายที่เราจะก้าวข้ามไป และวันหนึ่งมันก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าที่สนุกของชีวิตเราในอนาคต’
‘เราเชื่อว่าถ้าคนเราเตรียมตัวที่จะออกเดินทางด้วยความระมัดระวัง มันเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราเลือกที่จะ ‘ระแวง’ ทุกอย่าง ต้องจองทุกโรงแรม ต้องรู้ว่าจะไปที่ไหนบ้าง เดินทางยังไง คุณจะสูญเสียหลายๆ อย่างไป แล้วลักษณะของคุณมันจะออก ซึ่งพวกนักต้มตุ๋นที่รอจะโกง หรือทำร้ายเรา มันจะดูลักษณะของคนแบบนี้แหละ แต่คนที่ไปด้วยความมั่นใจ ด้วยพลังบวก ไปด้วยความคิดที่ดี มันจะแสดงออร่าของความมั่นใจในตัวเองออกมา ความสนุก ความสดใส คนพวกนี้จะไม่เข้ามายุ่ง เมื่อเราเชื่อแบบนี้ มันก็จะนำพาเราไปสู่เหตุการณ์ดีๆ สนุกๆ ตลอดการเดินทาง’ เหมือนกับถ้าเรามี Mindset ที่ดี เชื่อว่าเรากำลังจะไปเจอเรื่องที่ดีๆ เจ๋งๆ ในชีวิต เราก็จะเจอแต่สิ่งดีๆ
Mindset สิ่งสำคัญในการออกเดินทาง
หลังจากทริปนี้ เขาได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตคือ Mindset ‘การมองโลก การเปิดโลก ความเข้าอกเข้าใจกัน เราเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนไม่เหมือนกัน เราได้ไปเจอคนที่โตมาในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน เราเข้าใจกัน ยอมรับกันได้มากขึ้น เราไม่โลกแคบ ไม่ได้จำกัดว่าทุกอย่างต้องมีแค่ถูกหรือผิด แต่มันมีมากกว่านั้น มันเป็น mindset ที่ทำให้เรามองโลกได้กว้างขึ้น และหลังจากนี้เราก็จะมองโลกแบบไม่ไปตัดสินใคร มองโลกด้วยความเข้าใจว่ามนุษย์มีหลายแบบ บางคนโตมาในสังคมแบบนี้ วัฒนธรรมแบบนี้ ซึ่งมันไม่ได้ผิด เราแค่หาทางว่าจะอยู่ร่วมกันได้ยังไง’
พ่อแม่คือส่วนสำคัญที่ช่วยสร้าง Mindset ที่ดี
จะเห็นว่าสิ่งที่เราคุยกัน มันทำให้เรารับรู้ได้ถึงพลังบวก และการมี Mindset ที่ดี จนเราเองก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การมี Mindset ที่แข็งแรง และมั่นคงแบบนี้ มีพื้นฐานมาจากครอบครัวด้วยมั้ย ‘เราโชคดีที่ครอบครัวค่อนข้างให้อิสระในการเลือกทางเดินชีวิต ให้อิสระในการเรียนรู้ ไม่ปิดกั้น ซึ่งเรามองว่าสิ่งนี้มันสำคัญมาก เป็นสิ่งที่ครอบครัวควรจะมีให้ลูก คือเป็นห่วงได้ แต่อย่าไปขังเขาไว้ บ้านเราไม่เคยมานั่งตีกรอบ ว่าต้องเรียนอะไร ต้องใช้ชีวิตแบบไหน อาจจะมีห้ามบ้าง แต่สุดท้ายเราก็เลือกใช้ชีวิตของตัวเอง เราแค่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราเอาตัวรอดได้ พ่อแม่ต้องปล่อยให้ลูกได้บินในทางของตัวเอง ที่เหลือเขาจะได้เรียนรู้ของเขาเอง’ และพ่อแม่ของเขาเชื่อว่าการสั่งสอนไม่ใช่การบังคับ เตือนได้แต่ลูกจะฟังหรือไม่ฟังมันอยู่ที่ตัวเขาและสิ่งที่เขาเรียนรู้มาในสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่ทำได้แค่ส่งลูกไปในสังคมที่เขาคิดว่าน่าจะให้ลูกเรียนรู้สิ่งที่ดีๆ ได้ เลี่ยงสิ่งที่แย่ๆ ให้ลูกได้ แต่ที่เหลือคือเตือนเขา สั่งสอนเขา แต่อย่าไปบังคับเขา ว่าเขาต้องเป็นยังไง
‘เรามองว่าชีวิตก็เหมือนจิ๊กซอว์ที่เอาประสบการณ์เรื่องราว
สิ่งที่เราเรียนรู้มาประกอบกันเป็นชีวิตของเรา’
สำหรับใครที่อยากรู้จักหนุ่มคนนี้มากขึ้น ก็ไปติดตามเพจของเขากันได้ที่ Unless You Try และเขาก็แอบบอกมาว่าตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างเขียนรวบรวมประสบการณ์การเดินทางทริป พม่า อินเดีย เนปาลนี้อยู่ เอาเป็นว่าถ้าออกมาเป็นรูปเล่มเมื่อไหร่ เราจะรีบเอามาแชร์ให้ชาว HA ได้รู้กัน