เล่าเรื่องเศร้าเยอะไป อาจทำให้คนอื่นเจ็บปวดได้เหมือนกัน
ความเศร้า ความเหงา ความเจ็บปวด บางทีเราก็ไม่อยากเก็บไว้คนเดียว วันนี้อาจเดินเจอแฟนเก่ามาพร้อมแฟนใหม่ทั้งที่เรายังทำใจไม่ได้ หรือโดนเจ้านายด่าเพราะไปทำงานสาย หรือแม้กระทั่งเหนื่อยมาทั้งวันอยากกลับบ้านพักผ่อน ดันฝนกตกรถติดอีกหลายชั่วโมง บางทีสิ่งเหล่านี้มันอาจะทำให้เราอยากระบายออกมากับใครสักคนช่วงเวลาที่จิตใจอ่อนไหว เราเลือกที่จะเล่าให้คนที่เรารู้สึกสบายใจและไว้ใจฟัง ไม่ว่าจะคู่รักหรือเพื่อนรัก ครอบครัว โดยเหมือนเป็นการแชร์สิ่งที่เราเจอมาแล้วไม่ต้องรู้สึกว่าเราเผชิญมันอยู่เพียงลำพัง
บางทีเราแค่อยากเล่าให้ฟัง แต่มันกลับกลายเป็นการปล่อยพลังลบแบบไม่รู้ตัว
การระบายสิ่งแย่ๆ ความรู้สึกแย่ๆ เหล่านี้มากไป เราเคยคิดบ้างไหมว่าคนที่รับฟังเค้าอาจรับรู้ถึงความรู้สึกแย่และเจ็บปวดเช่นเดียวกัน ผู้รับฟังเหล่านี้ อาจตกอยู่ในสถานการณ์อันลำบากใจจนทุกข์ใจเช่นเดียวกัน
เราอาจไม่รู้ตัวเพราะเราแค่อยากระบาย แต่ดันลืมนึกถึงจิตใจของผู้ฟัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นเหมือนการกระทำที่จู่โจมแบบไม่ทันได้ตั้งตัว หรือไม่ได้เตรียมใจมารับฟังมาก่อน
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาปัญหาความวิตกกังวล ซึมเศร้าและความสัมพันธ์ คุณ Carlar Manly ได้กล่าวไว้ว่า Trauma Dumping ก็เหมือนการสูบบุหรี่มือสอง (Second-Hand Smoke) แม้การที่เราได้ระบายทุกสิ่งอย่างในใจออกมาแล้ว แต่มันอาจทำให้ผู้ฟังรู้สึก เหน็ดเหนื่อย สะเทือนใจ หรือรู้สึกดาวน์เหมือนถูกเอาเปรียบที่เค้าต้องมาเป็นผู้รับฟังมากเกินไป
"ที่แย่ไปกว่านั้น การ Trauma Dumping อาจส่งผลแย่ต่อผู้ฟังแล้วไปกระตุ้นเหตุการณ์ trauma ในอดีตของบุคคลนั้นๆ ขึ้นมาอีกรอบได้"
แล้วถ้าเราอยากระบายมันออกมา โดยไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ได้ไหม? หรือควรเลิกระบายไปเลย
จริงๆ การระบายความไม่สบายใจ หรือเหตุการณ์สะเทือนใจบางอย่างกับคนใกล้ตัวที่เราไว้ใจถือว่าเป็นรื่องที่ดีแล้ว แต่เราอาจต้องตระหนักหรือระวังให้มากขึ้น ว่าการที่เราจะระบายอะไรออกไป ก็ควรที่จะไม่สร้างความลำบากใจให้ผู้อื่น
ก่อนที่จะไประบายให้คนอื่นฟัง ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูสักหน่อย
- การระบายความรู้สึกของเรา จะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นไหม
- ทำไมเราถึงอยากระบาย เพราะเราไว้ใจคนนี้หรือแค่อยากปลดปล่อย
- เราเคยเปิดโอกาสให้คนรับฟัง ได้ระบายหรือตอบกลับบ้างไหม
- เราให้ได้โอกาสเค้าเลือกที่จะรับฟังไหม
- เราเคยระบายเรื่องนี้ให้เค้าฟังกันไปรึยัง
ถ้าเราไม่อยากระบายให้ใครฟังเลย หรือรู้สึกว่าถ้าไม่มีใครเข้าใจเราเลย การเลือกที่จะพูดคุยกับจิตแพทย์ก็ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เราสามารถเลือกได้เช่นเดียวกัน เพราะจิตแพทย์คือผู้เชี่ยวชาญที่ได้ศึกษาและผ่านการฝึกฝนเพื่อเป็นผู้รับฟังและให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตโดยเฉพาะ แถมยังไม่ต้องลำบากใจว่าเราจะเอาความรู้สึกไม่ดีของเรา ไปให้คนฟังรู้สึกบอบช้ำโดยที่เค้าไม่ได้ยินยอมอีกด้วย
หลักๆ แล้วการระบายให้คนอื่นฟังไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราควรตระหนักไว้ว่าทั้งสองฝ่ายควรจะยินยอมที่จะรับฟังหรือพร้อมที่จะเล่า ทั้งผู้ระบายและผู้รับฟัง พร้อมกับความเข้าใจและเห็นใจกัน อย่างมัวแต่คิดถึงความรู้สึกของเราฝ่ายเดียวเพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้สบายใจและพร้อมให้คำปรึกษาต่อกันและกัน