Toxic Masculinity เมื่อความแมนมีมากไป อาจกลายพิษต่อความสัมพันธ์

ใครที่เกิดมาเป็นลูกชาย โดยเฉพาะในครอบครัวคนจีน คงจะเข้าใจฟีล ของการถูกคาดหวังว่าจะต้องเข้มแข็ง แข็งแกร่ง ต้องเป็นช้างเท้าหน้า ต้องเป็นผู้นำครอบครัว ต้องมีอำนาจบารมี และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องไม่มีน้ำตา ซึ่งรู้มั้ยว่า การปลูกฝังหรือความกดดันทางสังคมนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ Toxic Masculinity ได้ง่ายๆ เลยเหมือนกัน



Toxic Masculinity คืออะไร?
Anxiety & Depression Association of America ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า ‘Toxic Masculinity’ หรือแนวคิดความเป็นชายที่เป็นพิษ คือการที่ผู้ชายถูกปลูกฝังหรือโดนสังคมกดดันให้มีพฤติกรรมบางอย่าง เช่น เป็นผู้ชายต้องแข็งแกร่ง แข็งแรง เก็บความรู้สึก ห้ามร้องไห้ เสียน้ำตา หรือถ้าจะพูดให้เห็นภาพ ก็มีหนึ่งคำที่อธิบายได้ดีคือ ‘สังคมปิตาธิปไตย’ 

สังคมปิตาธิปไตยคือสังคมที่มีแนวคิด หรือค่านิยมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะในระบบสังคม การเมือง ครอบครัว หรือแม้แต่ในเรื่องของความสัมพันธ์ เพศชายคือสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง เป็นผู้นำ และอำนาจ ตามบรรทัดฐานทางสังคม เพราะฉะนั้นใครที่มีพฤติกรรมผิดไปจากนี้ อ่อนแอ อ่อนไหว ไม่เด็ดขาด จะถูกตราหน้าในทันที ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดปัญหาใหญ่ตามมา

จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อความเป็นชายกลายเป็นพิษ
เมื่อพูดถึงสังคมที่ชายเป็นใหญ่ หลายคนอาจจะมองว่าเพราะฉะนั้นเหยื่อของเรื่องนี้ก็ต้องเป็นผู้หญิงอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะจริงแค่บางส่วน เพราะความจริงแล้วเพศชายเองนี่แหละคือเหยื่อเบอร์หนึ่ง เพราะการถูกคาดหวังจากสังคม หรือการปลูกฝังแนวคิดนี้ อาจทำให้ชีวิตพวกเขาพังโดยไม่รู้ตัว เช่น 

#กลายเป็นซึมเศร้า
เพราะการถูกคาดหวังให้เข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา การแสดงความอ่อนไหว จึงมักถูกตราหน้าว่าอ่อนแอ ซึ่งอาจจะลามไปถึงการถูกล้อเลียน เหยียดหยามจากผู้ชายด้วยกันเอง ทำให้ผู้ชายไม่กล้าที่จะแสดงความรู้สึกออกมา กลายเป็นเก็บกด ซึมเศร้า หรือเลวร้ายกว่านั้นอย่างการฆ่าตัวตาย ผลการสำรวจจาก The Center For Male Psychology ที่ได้พูดถึงผลกระทบของ Toxic Masculinity ไว้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วในเรื่องของการศึกษาเด็กผู้ชายมักจะตามหลังเด็กผู้หญิงอยู่เสมอ เมื่อต้องทำการบ้านพวกเขามักจะไม่ค่อยมีสมาธิ หรือเข้าใจอะไรได้ช้ากว่า และเมื่อพวกเขาโตขึ้นในวัยทำงาน ก็มักมีเปอร์เซ็นต์การได้งานที่ต่ำกว่าผู้หญิง รวมไปถึงพวกเขายังรับมือกับความเครียดได้ไม่ค่อยดี และที่น่าตกใจก็คือ กว่า 75% ของการฆ่าตัวตาย เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากวารสารจิตแพทย์แห่งประเทศไทยที่พบว่าผู้ชายมักฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า

#ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
ในเมื่อไม่ได้รับการอนุญาตจากสังคมให้แสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เกิดการเก็บกด ความเครียดถูกสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อมันเกิดจะรับไหว ก็กลายเป็นระเบิดอารมณ์ในทันที และเมื่อเลเวลความพีคของอารมณ์บวกกับสรีระตามธรรมชาติที่แข็งแกร่งของเพศชาย ก็กลายเป็นเหมือนระเบิดนิวเคลียลูกใหญ่ ที่มีอำนาจในการทำลายล้างตามแรงรัศมีวงกว้างได้ในทันที ซึ่งนี่อาจเป็นอัจจัยหนึ่งให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ยังไม่นับที่หลายคนหันไปแก้ปัญหา ระบายความเครียดด้วยการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด ที่อาจทำให้เกิดความรุนแรงต่อตัวเองและคนรอบข้างตามมา

#กลายเป็นคนเหยียดเพศ
ในเมื่อความเป็นชายคือสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ความอ่อนโยนจึงไม่เป็นที่ยอมรับ แม้สังคมจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่z^ผู้ชายที่ติดอยู่กับแนวคิดสังคมปิตาธิปไตย ก็ยังคงไม่ให้การยอมรับ และยิ่งไปกว่านั้นคือการคุกคาม ไม่ว่าจะด้วยวาจา หรือการใช้ความรุนแรง กับกลุ่ม LGBTQ+ หรือแม้แต่คนที่ไม่แสดงตัวตนในเรื่องเพศอย่างชัดเจน รวมไปถึงการกดขี่เพศตรงข้ามอย่างเพศหญิงด้วยเช่นกัน

รับมืออย่างไร? ให้ความ Toxic นี้หายไปตลอดกาล
การแก้ปัญหานี้อาจไม่ได้ทำได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่อยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างพลังบวก สร้างความตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นจาก Toxic Masculinity และคอนสังเกตตัวเอง เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าความเป็นชายเริ่มจะเกินเบอร์ จงเตือนตัวเอง ปรับแนวคิด และเปิดใจพูดคุยกับคนรอบข้างอย่างตรงไปตรงมา กล้าที่จะยอมรับปัญหา และแสดงความอ่อนแอ อย่างลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนรอบข้าง หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์



 


 
-->