Top 5 โรคมะเร็งที่ไม่ว่าผู้หญิงคนไหน ก็ไม่มีใครอยากเป็น
ปกติถ้าพูดถึงมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิง เราก็มักจะนึกถึงมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งที่เกี่ยวกับอวัยวะของผู้หญิง แต่ข้อมูลที่เราได้ไปเจอล่าสุดจากบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตก็ทำให้เราเซอร์ไพร์สเพราะบางชนิดก็เป็นมะเร็งที่เราคาดไม่ถึงว่ามันจะติดอยู่ในลิสต์ 5 มะเร็งท็อปฮิตที่ผู้หญิงป่วยมากที่สุด#1 มะเร็งเต้านม
แน่นอนว่ามะเร็งเต้านมยังคงเป็นมะเร็งที่ครอบอันดับ 1 ในผู้หญิง และเป็นสาเหตุต้นๆ ของการเสียชีวิตในผู้หญิง ซึ่งมะเร็งเต้านมนั้นอย่างที่รู้กันดีว่าเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมท่อน้ำนม ซึ่งเซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวที่ผิดปกติทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ จึงเกิดการแพร่กระจายไปตามทางเดินของน้ำเหลืองไปจนถึงต่อมน้ำเหลือง หรืออาจจะแพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น ปอด ตับ หรือแม้แต่กระดูก
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง: ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี, มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมหรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม, กินยาคุมกำเนิดติดต่อกันเกิน 5 ปี, มีพฤติกรรมผิดๆ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน
วิธีการป้องกัน: ในผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจคลำเต้านมตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อดูว่ามีก้อนหรือไม่ หรือสามารถตรวจอัลตร้าซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้ง กรณีที่อายุน้อยกว่า 35 ปี และเมื่อเข้าสู่วัย 35 ปี ควรตรวจเมมโมแกรมอย่างน้อย 1 ครั้ง และเมื่ออายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจทั้ง Memogram และ Ultrasound ปีละครั้งจะดีที่สุด
#2 มะเร็งปากมดลูก
รองจากมะเร็งเต้านมแล้ว มะเร็งอันดับ 2 ที่พบได้บ่อยในผู้หญิงนั่นก็คือมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็งนั้นมาจากการติดเชื้อไวรัสที่บริเวณปากมดลูก ซึ่งเรียกว่า ฮิวแมน พาพิลโลมา ไวรัส (Human Papiloma Virus) ที่ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด ซึ่งความน่ากลัวคือมะเร็งชนิดนี้มักจะไม่ได้มีอาการเตือน จึงต้องอาศัยการสังเกต เช่น เมื่อไหร่ที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ประจำเดือนมานานผิดปกติ หรือมีเลือดออกทั้งๆ ที่อยู่ในวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้ว หรือมีอาการตกขาวมีกลิ่นหรือมามากผิดปกติ ปวดท้องน้อยหรือมีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง: ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ, มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ชอบสูบบุหรี่
วิธีการป้องกัน: ควรเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี หรือตรวจแปบสเมียร์ หรืออาจเลือกตรวจ DNA ของไวรัส HPV ซึ่งจะมีความไวในการตรวจพบมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น
#3 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
เราเชื่อว่ามีหลายคนที่ไม่เคยรู้ว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักถูกจัดเป็นมะเร็งอันดับ 3 ที่พบในผู้หญิง มักเกิดจากความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิดปกติ ซึ่งอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะต้นนั้นมักไม่ค่อยมีความผิดปกติให้เห็น ทำให้กว่าจะรู้ตัววอีกทีโรคก็มักจะพัฒนาไปในระดับนึงแล้ว โดยอาการที่จะสังเกตได้ถึงความผิดปกติก็คือ ท้องเสีย ท้องผูก มวนท้องแบบไม่มีสาเหตุ อุจจาระมีเลือดปน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียนหรือน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง: ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, เคยมีประวัติตรวจเจอติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่, มีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง, ชอบกินเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ, มีภาวะอ้วน, มีพฤติกรรมชอบดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
วิธีการป้องกัน: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่น ทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ทานพวกเนื้อแดง หรืออาหารแปรรูปบ่อยเกินไป ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะการตรวจเฉพาะทางอย่างการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
#4 มะเร็งปอด
ใครจะไปคิดว่ามะเร็งปอดจะติดอันดับ Top 5 มะเร็งที่ผู้หญิงป่วยมากที่สุด และยิ่งไปกว่านั้นโรคนี้ยังมีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากถึง 60% เลยทีเดียว โดยกว่าที่อาการของโรคจะแสดงให้เห็นก็มักจะเข้าสู่ระยะที่ 3-4 ไปแล้ว โดยอาการที่สังเกตได้คือ มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจผิดปกติ แน่นหน้าอก มีอาการติดเชื้อในปอดอยู่บ่อยๆ น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ยิ่งถ้าเกิดที่หลอดลมก็อาจจะมีอาการไอเรื้อรัง หรือบางรายอาจมีอาการไอมีเลือดปน
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง: คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ, คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่สัมผัสควันบุหรี่, เคยได้รับสารพิษจากการสูดดมสารก่อมะเร็งติดต่อกันเป็นเวลานาน, มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็ง
วิธีการป้องกัน: ควรตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ หรือสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้น
#5 มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นมะเร็งที่ครองอันดับ 5 ของหญิงไทย โดยอาการของคนที่เป็นโรคนี้คือ ในวัยของคนที่ยังไม่หมดประจำเดือน อาจมีอาการประจำเดือนมาผิดปกติ ไม่ว่าจะมาบ้างไม่มาบ้าง มานานกว่าปกติ หรือแม้แต่มีเลือดออกในช่องคลอดทั้งๆ ที่อยู่ในวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้ว ในบางคนที่โรคได้พัฒนาไปแล้ว อาจมีอาการของมดลูกโตขึ้น ปวดท้องน้อย หรือคลำเจอก้อน ปัสสาวะบ่อยเนื่องจากมดลูกไปกดกระเพาะปัสสาวะ หรือกดทวารหนักทำให้ถ่ายลำบาก
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง: คนที่ได้รับฮอร์โมนในปริมาณที่มากเกินไป เช่น การรับฮอร์โมนในวัยทอง หรือการใช้สมุนไพรบางชนิดที่มีเอสโตรเจนสูง, มีภาวะอ้วน, มีการใช้ยารักษามะเร็งเต้านม, มีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ
วิธีการป้องกัน: ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมอยู่ในเกณฑ์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเกิดความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
และไม่ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดไหน เราก็เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเจอ อยากเป็น แต่เพราะบางโรคอาจไม่ได้มีอาการแสดงออกมาที่ชัดเจน ทำให้เมื่อรู้ตัวอีกทีโรคก็ได้พัฒนาไปไกลแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าลืมสังเกตตัวเอง เมื่อพบความผิดปกติเมื่อไหร่ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง และที่ย้ำกันอยู่ตลอดคือการตรวจสุขภาพซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รู้ถึงความผิดปกติได้เร็ว