T&T Traverso DUO พวกเธอคือนักฟลุตโบราณสองคนแรกของไทย ที่ไปเฉิดฉายไกลถึงเนเธอร์แลนด์
แค่แว็บแรกที่ได้ยินเสียงดนตรีในยุค Early Music จากฟลุตโบราณอย่าง “Traverso” ก็ทำให้เราตกหลุมรักกับความนุ่มนวลของเสียงดนตรีชนิดนี้ทันที ยิ่งพอได้นั่งคุยกับสองนักดนตรีอารมณ์ดีอย่าง จูน ธัญญารัตน์ ลิมปวุฒิวรานนท์ และ ยิ้ม ฐานิดา เอี่ยมศิริกุลมิตร นักเรียนไทย 2 คนแรกที่ได้เข้าไปเรียนที่ HKU Utrechts Conservatorium โรงเรียนดนตรีในประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ยังอนุรักษ์เครื่องดนตรีโบราณยิ่งเซอร์ไพรส์หนักเข้าไปอีก
จุดเริ่มต้นของการเป็นนัก Traverso
หลังจากที่พวกเธอเรียนจบปริญญาตรีจากจุฬาฯ ก็ตัดสินใจต่อปริญญาโทด้านดนตรีที่เนเธอร์แลนด์ด้วยโมเดิร์นฟลุต แต่กลับเจอตัวตนของตัวเองบนเครื่อง Traverso ที่เลือกเรียนเป็นไมเนอร์ในตอนแรก จูนเล่าให้ฟังว่า “ตอนแรกเราเรียนป.โทโมเดิร์นฟลุต แล้วเวลาอยู่ในวงออเคสตร้ามันต้องใช้แรงเยอะมากเพื่อที่จะสู้กับเสียงเครื่องสายอื่น และด้วยสรีระที่เราเป็นเอเชียตัวเล็ก ทำให้สุดท้ายเราค่อนข้างเหนื่อย และเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ทาง จนได้มาเจอกับ Traverso ซึ่งเครื่องนี้มันตอบโจทย์ความเป็นตัวเรามากกว่า เลยตัดสินใจสอบเข้า ป.โท ด้วยเครื่อง Traverso ใหม่อีกครั้ง”
ทุกคนมีความเก่ง แค่ต้องหาตัวเองให้เจอ
แต่กว่าพวกเธอจะสอบเข้าไปเรียนป.โทใหม่อีกครั้งได้ ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองกับอาจารย์ทั้งคณะว่ามีศักยภาพพอที่จะไปต่อทางด้านนี้และมีโอกาสพัฒนาไปถึงเลเวลที่เป็นมาสเตอร์หรือเปล่า ยิ้มเสริมว่า “ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะสอบเข้าได้หรือเปล่า แต่ก็กัดฟันสู้ คิดว่าถ้าไม่ได้ก็กลับไทยเลย เพราะเราสุดทางกับโมเดิร์นฟลุตแล้วเหมือนกัน แต่กลายเป็นว่าพอมาเล่นเครื่อง Traverso นี้แล้วกลับรุ่งซะอย่างนั้น”
สเน่ห์ของ Traverso เครื่องดนตรีโบราณที่ยังมีชีวิต
“Traverso ถือเป็นบรรพบุรุตของโมเดิร์นฟลุต มาจากภาษาอิตาเลียนใช้เรียกฟลุตที่เป่าข้างๆ เป็นเครื่องดนตรีที่เรียบง่าย ทำจากไม้ มี 4 ท่อน และมีคีย์แค่คีย์เดียว โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1600-1700 แต่พอหลังจากยุคนี้ ประมาณปี 1800-1900 ซึ่งเป็นยุคของโมซาร์ท มันก็ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ มีคีย์เพิ่มขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตกับสไตล์ของดนตรีที่เกิดขึ้นตามยุคนั้นๆ จนกลายเป็นโมเดิร์นฟลุตในยุคปัจจุบัน”
เสียงที่ใครได้ยินเป็นต้องตกหลุมรัก
เอกลักษณ์ของ Traverso คือเสียงที่ไพเราะ นุ่มนวลและมีเสน่ห์เฉพาะตัว “คือเสียงมันน่ารัก นุ่มนวล และสวยงามมาก สำหรับเรามันเหมือนฟลุตเวอร์ชั่นสีพาสเทลที่มีความสดใสและอ่อนโยน แต่มันก็จะมีเทคนิคอื่นๆ ที่มาช่วยในการถ่ายทอด อย่างเวลาที่เล่นเพลงที่มีความดุดัน เราก็จะใช้เทคนิคตัดลิ้น เพื่อให้มันชัดและคม ได้อารมณ์ดุดันแต่ก็ยังมีเสียงที่อ่อนโยนอยู่”
เทคนิคการเล่นประสาน ที่ต้องใช้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
กว่าจะเล่นให้เข้ากันนั้นเธอก็ต้องใช้เวลาในการซ้อมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีไปด้วยกัน “พูดง่ายๆ คือเราต้องเข้าใจและรู้หมดแล้วว่าถึงช่วงนี้ปุ๊บ จะมีอีกคนเล่นตรงนี้นะ มีช่วงโซโล่ แล้วเราต้องเล่นต่อ คือต้องเข้าใจจนถึงจุดนั้น ต้องคอยฟังเยอะๆ เวลาอีกคนเด่นเราก็ต้องช่วยซัพพอร์ต ไม่ใช่ว่าแย่งกันเด่น ต้องอะลุ่มอล่วยและเข้าใจกัน ซึ่งพูดแล้วเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ มันยากนะ ความเป็นเพื่อนก็ช่วยเยอะมากเหมือนกัน”
ความท้าทายที่ไม่ได้อยู่แค่บนตัวโน้ต
นอกจากการเล่นเครื่องดนตรีของตัวเองให้ดีแล้ว ความท้าทายอีกขั้นก็คือการออกจากคอมฟอร์ตโซนที่คุ้นเคย “การเล่นเป็นวงถือเป็นความท้าทาย เพราะเราต้องคอยดูว่าคนไหนจะเสนออะไรขึ้นมาหรือเปล่า แล้วเราก็ต้องรีแอคกับสิ่งที่เค้าทำ เช่น อยู่ดีๆ เขาเล่นดังขึ้นมาเราก็ต้องเล่นดังตาม มันต้องตามจังหวะของคนอื่นด้วยอาจจะมีตกลงกันนิดหน่อยตอนซ้อม แต่มันก็มีเหมือนกันที่เล่นสดแล้วบางจังหวะมันก็เกิดขึ้นเอง ณ ตรงนั้นเลย ไม่ได้เตี๊ยมกันมา ซึ่งมันต้องใช้ความกล้าหาญเยอะมากที่เราจะไม่กลัวเล่นผิดแล้ว แต่เราจะถ่ายทอดมันออกไปเลย เพื่อให้เกิดความสนุกสนานในคอนเสิร์ตขึ้นมา”
สุดยอดไอดอลแห่งแรงบันดาลใจ
“เรา 2 คนมีไอดอลคนเดียวกันเลย คือ Wilbert Hazelzet ซึ่งเป็นอาจารย์สอน Traverso ของพวกเราเอง ตอนนี้อาจารย์อายุ 70 แล้วแต่ยังใช้ชีวิตเหมือนคนอายุ 40 และยังอินสไปร์ทุกคนได้เสมอ ทุกอย่างที่เขาทำไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เขาทำเพื่อดนตรี ทำเพื่อคนอื่น ทำเพราะอยากให้จริงๆ เขาเป็นคนที่น่ารักมากๆ ใครอยู่ใกล้แล้วจะรู้สึกสบายใจ เป็นคนทำให้บรรยากาศทุกอย่างมันดี เขามีอิมแพคกับทุกคนมาก แม้แต่เพื่อนร่วมงานของเขาเอง เลยรู้สึกว่าในอนาคตเราอยากจะเป็นให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเขาก็ยังดี”
เป้าหมายต่อจากนี้คือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์
ตอนนี้พวกเธอเพิ่งเรียนจบหมาดๆ และจะกลับไปที่เนเธอร์แลนด์เพื่อหาประสบการณ์ต่ออีก 1 ปี “เดี๋ยวจะต้องกลับไปเล่นคอนเสิร์ตที่รับไว้ แล้วก็คงหาประสบการณ์ หาคอนเสิร์ตเล่นอีก เพราะที่เนเธอแลนด์เวลาเรียนจบแล้วเขาจะอนุญาตให้เราทำงานต่อได้อีก 1 ปี โดยที่ไม่ต้องเซ็นสัญญาทำงานกับที่ใดที่หนึ่ง หลังจากนั้นก็จะกลับมาทำวงดนตรีที่ไทย เพราะเราอยากให้คนได้รู้จักดนตรีแนวนี้มากขึ้น”
Top Secret เทคนิคเติมเต็มฝันในการเป็น “นักดนตรี”
สำหรับคนที่มีฝันอยากเป็นนักดนตรี จูนบอกว่าส่วนสำคัญเลยคือต้องมีความอดทน ซ้อมให้สม่ำเสมอ มีความมุ่งมั่น มีวินัย และอย่าลืมเด็ดขาดว่าเราเล่นดนตรีเพราะอะไร หรือเราชอบมันแค่ไหน เพราะระหว่างทางมันอาจมีความรู้สึกท้อและอาจจะหลงทางได้ นอกจากนี้ยิ้มได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “บางทีเราก็อยากพัฒนา แต่ก็ลืมไปว่าเรื่องของดนตรีเราต้องใช้เวลาเยอะมาก ความยากของมันคือวันนี้เราเล่นเพราะ ตื่นมาพรุ่งนี้อาจเล่นไม่ได้แบบเดิมแล้ว ชีวิตของนักดนตรีมันเป็นแบบนี้ ไม่มีทางเพอร์เฟคได้ตลอด เราทำให้ได้ 100% ของสิ่งที่เรามี ณ วันนั้นก็พอ”
อยากรู้ว่าเสียงฟลุตโบราณจะไพเราะขนาดไหน เข้าไปฟังและติดตามผลงานได้ที่ Youtube Channel ของพวกเธอเลย!