รู้จัก 'โรคเดือนห้า' โรคเครียดของคนญี่ปุ่น ที่คนไทยก็อาจเป็น

เคยมั้ย? ตอนเด็กๆ เปิดเทอมใหม่ก็ตื่นเต้น ว่าจะได้เจอใครเป็นเพื่อนร่วมชั้น แต่บางคนก็วิตกกังวลว่าจะเจอเรื่องอะไรร้ายๆ หรือเปล่า ไม่พอ โตมาเริ่มงานใหม่ก็ดันกังวลคล้ายๆ กันอีก อาการแบบนี้ดูไม่ค่อยมีอะไร แต่ที่ญี่ปุ่นคนเป็นแบบนี้กันเยอะมาก จนเรียกว่า โรคเดือนห้า หรือ โกะกัทซึเบียว (5月病 Gogatsu-byo) หรือ May blues



ทำไมต้องป่วยเดือนห้า?

โรคเดือนพฤษภาคม หรือ โรคเดือนห้า จริงๆ ไม่ใช่ชื่อทางการแพทย์ และก็ไม่ใช่โรคด้วย แต่จัดเป็นภาวะหนึ่งที่คนญี่ปุ่นนิยามขึ้นมาจะดีกว่า ซึ่งถามว่าทำไมต้องเป็นโรคนี้ในเดือนพฤษภาคม และมันมาเป็นโรคได้ยังไง? ก็เพราะในช่วงเมษายนเป็นช่วงปิดปีงบประมาณของญี่ปุ่น ง่ายๆ คือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านหลายๆ อย่างพอดีแหละ บางคนลาออกไปทำงานที่ใหม่ ย้ายบ้าน ย้ายจังหวัด และเด็กก็เปิดเทอมเดือนนี้พอดี รวมไปถึงท้ายเดือนเมษาก็ตรงกับช่วงวันหยุดยาว Golden week พอกลับมาก็จะเป็นภาวะนี้กันเยอะ คล้ายๆ Vacation blues หลังสงกรานต์บ้านเราประมาณนั้น ประกอบกับคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่ Loyalty กับองค์กรสูงมาก จึงไม่ค่อยมีความคิดอยากย้ายไปที่ใหม่ หรือย้ายไปก็จะรู้สึกผิดกับที่เก่า แม้ที่ทำงานปัจจุบันจะเป็นพิษมากแค่ไหนก็ตาม เลยยอมทนๆ ทำงานและถูกกดทับไปเรื่อยๆ ซึ่งจุดนี้จะต่างกับบ้านเราตรงที่สามารถย้ายงานไปที่ใหม่ได้เลยโดยไม่ได้รู้สึกผิดอะไร แถมมองว่าการย้ายงานใหม่เป็นช่องทางที่ทำให้เติบโตมากขึ้นด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ยังมีคนญี่ปุ่นอีกหลายคนมากๆ ที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเดือนพฤษภาคมแทบจะเป็นเดือนนรกแตกสำหรับพวกเขา เพราะมีแต่เรื่องแย่ๆ ให้เจอบ่อย เช่น ทะเลาะกับคนนู้นนี้ เพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอมานานมากไม่ว่างมาเจอ เพื่อนร่วมงานไม่เป็นมิตร และด้วยความโชคร้ายที่มักจะเจอกันในเดือนพฤษภาฯ ทำให้บางคนถือโอกาสก็ใช้เดือนพฤษภาคมเป็นข้ออ้างในการบอกเลิก บางคนยอมรอจนถึงเดือนนี้ถึงค่อยบอกเลิกเลยก็มี

โดยภาวะนี้จะพบได้บ่อยในพนักงานหน้าใหม่ในออฟฟิศที่ไม่คุ้น นักศึกษาเฟรชชี่เข้ารั้วมหาลัย เด็กนักเรียนในวันเปิดเทอม หรือแม้แต่ผู้ใหญ่วัยทำงานโตๆ แล้วก็เป็นได้ 

อาการมันเป็นยังไง ไหนบอกหมอซิ?

แม้จะมีชื่อจั่วหัวว่าโรค แต่จริงๆ สาเหตุของมันก็ไม่สามารถระบุแน่ชัด กระนั้นเหล่าแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาต่างก็ระบุว่ามีสาเหตุจากความเครียดจากการจัดการปัญหาในชีวิต 

อย่างเช่น การย้ายที่ทำงาน ย้ายเมือง ย้ายที่อยู่ใหม่ทำให้เกิดความกดดันที่มาพร้อมกับความต้องการและภาระความรับผิดชอบจากที่ใหม่ๆ รวมถึงยังเป็นช่วงเปิดเทอมเทอมแรกด้วย เด็กๆ ที่เลื่อนชั้นเรียนไปห้องใหม่ เจอเพื่อนใหม่ หรือแม้แต่ย้ายโรงเรียนใหม่ ก็เกิดความกังวลว่าจะไปเจออะไรแย่ๆ หรือเปล่า และการต้องไปเจออะไรใหม่ๆ นี่แหละ ส่งผลให้หลายต้องตัวเองให้สอดคล้องกับที่ใหม่ๆ เช่น ย้ายมาเรียนอีกเมืองไม่รู้ว่าตอนเช้ารถจะติดไหม ก็ต้องตื่นให้เร็วกว่าที่เคยตื่น ทำให้ช่วงแรกๆ ยังปรับตัวไม่ได้ เกิดเป็นปัญหาตามมา ซึ่งอาการที่สังเกตได้เลย ได้แก่
 
  • เหนื่อยล้า เหนื่อยง่าย
  • ขาดแรงกระตุ้นออกไปทำงาน หรือไปเรียน
  • มีรูปแบบความคิดเชิงลบที่เห็นได้ชัด
  • นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือนอนมากเกินไป มีปัญหาด้านการนอน
  • วัฏจักรการกินเปลี่ยนไป บางคนกินเยอะขึ้น บางคนกินน้อยลง
  • สูญเสียความสนใจในงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ
  • รู้สึกวิตกกังวล หรือไม่สบายใจ/ตัวอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งหากปล่อยไว้นานเกินไปจะส่งผลให้มันพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคเครียดได้ โดยเราสามารถจัดการกับความรู้สึกแย่ๆ แบบนี้ด้วยการ

วิธีจัดการกับโรคเดือนห้า

1. นอนหลับให้เป็นกิจวัตร และเพียงพอ 
การนอนเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ลดระดับความเครียดในร่างกาย การขาดการนอนหรือนอนไม่เป็นเวลาจะทำให้ร่างกายเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังในช่วงสูงวัยเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ร่างกายทรุดลงหนักกว่าเดิม หากนอนเพียงพอจะช่วยให้สมองฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้าได้เยอะขึ้น

2. หาอะไรทำที่ช่วยจัดการกับความเครียด
ทำสมาธิ ออกไปเดินเล่น ออกไปเที่ยวหาเพื่อน ออกกำลังกาย หรือจะหยุดพักนอนอยู่บ้านช่วยฟื้นฟูความเหนื่อยล้า และลดระดับความเครียดลงได้

3. ฝึกทำกิจวัตรประจำวันใหม่
ต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคเดือนห้ามาจากความกังวล และการปรับตัวกับกิจวัตรใหม่ๆ ไม่ได้ การปรับเปลี่ยนกิจวัตรทำสอดคล้องกับชีวิตใหม่ของตัวเองจะปรับสภาพร่างกายให้ชินมากขึ้น ลดความไม่แน่นอน คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น (ไม่ต้องใช้อารมณ์คิดก่อน เพราะนอนน้อย) 

4. หาคนช่วยซัปพอร์ต
บางครั้งเมื่อตัวเองมีปัญหาอะไรแบบนี้ แนะนำให้หาคนช่วยรับฟังเรื่องในใจ หรือแชร์ความกังวล ความรู้สึกของตัวเองตอนนี้ให้คนรอบข้างได้เข้าใจ

แม้โรคนี้จะเกิดบ่อยๆ ที่ญี่ปุ่น แต่ถ้ามองกลับกันคนประเทศไหนๆ ก็เป็นได้เหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมเดือนพฤษภาฯ ของบ้านเราที่ดันตรงกับของญี่ปุ่นพอดี หรือผู้ใหญ่วัยทำงานที่เปลี่ยนงานช่วงนั้นพอดีก็อาจเจออาการวิตกกังวลก่อนเริ่มงานใหม่ได้ เพียงแต่คนไทยไม่ได้เจาะจำแนกว่าเป็นโรคเสียทีเดียว แค่เหมารวมว่าอาจเป็นความวิตกกังวลธรรมดา หรือความเครียดอ่อนๆ จากการปรับตัวไม่ได้เฉยๆ ไม่เหมือนที่ญี่ปุ่นที่แยกตั้งชื่อออกมาโดดๆ แบบนี้ ฉะนั้นใครที่น่าจะเคยเจออาการอะไรทำนองนี้ แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็สบายใจได้ คุณยังปกติดีอยู่ แค่ปรับตัวให้ชินไวๆ ก็จะช่วยให้อาการนี้ลดลงได้แล้วล่ะ
-->