Lucid Dream ทฤษฎีที่ว่าด้วยการตระหนักรู้ ว่าเรากำลังอยู่ในความฝัน

ตอนนี้เรากำลังอยู่ในฝันรึเปล่า? ปกติแล้วเราเองจะไม่รู้ตัวหรอกว่าเรากำลังฝันอยู่ ความฝันก็จะเป็นหนึ่งเรื่องราวที่ดำเนินไป เราจะรู้ว่าเราฝันก็ต่อเมื่อเราตื่นขึ้นมาเท่านั้น แต่จะมีฝันอยู่ประเภทหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราจะรู้ตัวว่า ‘เรากำลังอยู่ในฝัน’ ซึ่งเมื่อเรารู้แบบนั้น เราจะสามารถควบคุม และสร้างสรรค์เหตุการณ์ในฝันได้ตามใจนึก ฝันแบบนี้เรียกว่า Lucid Dream



Lucid Dream เพราะในฝันฉันควบคุม
ลูซิดดรีม (Lucid Dream) คือความฝันรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ฝันรู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังอยู่ในฝัน ทีนี้พอเรารู้ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นความฝัน เราก็จะสามารถทำอะไรได้อย่างอิสระ ไร้ซึ่งความกังวลและความกลัวใดๆ แต่ความฝันนั้นจะออกมาสมจริงมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละคนด้วย ซึ่งบางคนอาจจะถึงกับสามารถเนรมิตสภาพแวดล้อม ผู้คน หรือสถานการณ์ในความฝัน ให้ออกมาได้อย่างที่ใจต้องการเลย

อยากมี Lucid Dream ต้องทำยังไง?
มีการประมาณว่า 55% ของประชากรโลก เคยมีประสบการณ์การฝันแบบลูซิดดรีม อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ก็บอกตรงกันว่า การฝันแบบนี้ เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และมีความต้องการอยากจะได้รับประสบการณ์แบบนี้อยู่เรื่อยๆ เราเลยไปหาข้อมูลเรื่องนี้มาเพิ่ม จนได้ความว่า Dr. Stephen LaBerge คือนักจิตวิทยาชาวอเมริกาที่ศึกษาเรื่องนี้มากว่า 20 ปีแล้ว และได้อธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ถึงแม้ว่าลูซิดดรีมมักจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เราก็สามารถเรียนรู้และฝึกฝนที่จะควบคุมฝันได้เหมือนกัน

วันนี้เราเลยมี How to Lucid Dream ที่ผ่านการทดลองอย่างเป็นทางการมาฝากกันถึง 4 วิธี ถ้าพร้อมแล้ว ตามไปดูกันเลย!
 
   #1 Reality Testing
ลองถามตัวเองดู ว่าตอนนี้กำลังฝันอยู่รึเปล่า? วิธี Reality Testing เป็นการฝึกการรับรู้ หรือที่เรียกว่าอภิปัญญา (Metacognition) ซึ่งเริ่มจากการฝึกจิตให้เกิดการรับรู้ (Awareness) เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น เพราะจากรายงานของ Cognitive Neuropsychiatry ระบุว่าระดับของ Metacognition จะค่อนข้างเสถียร ไม่ว่าเราจะกำลังหลับหรือว่ากำลังตื่นอยู่ นั่นหมายความว่า ยิ่งเราฝึกการรับรู้ของจิตใจตัวเองให้มีมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีโอกาสที่จะรับรู้ว่าตอนนี้ตัวเราเองกำลังอยู่ในความฝันมากเท่านั้น
 
วิธีตลกๆ ที่เราเห็นตามละครทีวีหรือภาพยนตร์อย่างการตบหน้า หยิกแขน เอาจริงๆ แล้วไม่วิธีที่ไร้สาระไปซะทีเดียวนะ Dr. Stephen LaBerge แนะนำว่าอาจจะลองตั้งนาฬิกาปลุกตอนกลางคืนทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อลุกขึ้นมาทำ Reality Check ซึ่งโดยปกติแล้ว การงัวเงียกึ่งหลับกึ่งตื่นในตอนกลางคืนอาจทำให้เราสับสนระหว่างฝันกับความเป็นจริงได้ ถ้าเราเริ่มเช็คตัวเอง และพบว่าเรากำลังอยู่ในความฝัน นั่นแหละคือลูซิดดรีมกำลังเกิดขึ้นแล้ว
ๅๆ
   #2 Wake back to bed (WBTB)
วิธีนี้คือการพยายามเข้าสู่ช่วง REM (อ่านเรื่อง Sleep Cycles เพิ่มเติมได้ที่นี่) ในขณะที่ยังมีสติอยู่ โดย Dr. Stephen LaBerge ได้แนะนำว่าให้ตั้งนาฬิกาปลุก 5 ชั่วโมง หลังจากเวลาเข้านอน จากนั้นก็เข้านอนตามปกติ พอถึงเวลาที่นาฬิกาปลุก ให้ลุกขึ้นมาทำแอคทิวิตี้เบาๆ อย่างการอ่านหนังสือสัก 30 นาที จากนั้นพอเข้านอนต่อ ก็มีโอกาสที่จะเข้าสู่ลูซิดดรีมมากขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยของ PLoS One ที่ระบุว่าการใช้วิธี WBTB มีโอกาสสูงที่จะได้สัมผัสประสบการณ์แบบลูซิดดรีม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระดับความตื่นตัวของเราเป็นหลัก
 
•   #3 Mnemonic induction of lucid dreams (MILD)
เทคนิคสุด Old School นี้ ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ถือเป็นวิธีแรกๆ ที่ Dr. Stephen LaBerge ใช้ในการทดลองและทำการวิจัยเรื่องลูซิดดรีม โดยในขณะที่กำลังจะหลับ ให้เรานึกถึงความฝันล่าสุด และให้พยายามระบุความผิดปกติที่เกิดขึ้นในฝัน จากนั้นพยายามท่องในหัวเอาไว้ว่าเราอยากที่จะกลับไปฝันแบบเดิมอีก ซึ่งจากผลการทดลองในปี 2017 ของ the jounal of Dreaming ระบุว่า การผสมผสานกันของทั้งสามวิธีข้างต้นนี้ เป็นการฝึกการเข้าสู่ลูซิดดรีมที่ดีที่สุด และจะช่วยให้เรามีโอกาสได้ลิ้มลองประสบการณ์การควบคุมฝันได้มากขึ้น

•   #4 Keeping a dream journal
จริงๆ แล้วคนเรามักจะฝันเรื่องอะไรก็ตามมากกว่าหนึ่งครั้งอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือเรามักจะจำความฝันของเราไม่ค่อยได้เนี่ยสิ วิธีง่ายๆ สุดเบสิคที่ใครๆ ก็ทำได้เลยคือ การจดบันทึกความฝันหลังจากที่เราตื่นขึ้นมา เพราะถ้าครั้งหน้าเราฝันเรื่องเดิมอีก เราอาจจะรู้ตัวก็ได้ว่ากำลังอยู่ในฝัน

ใครที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ฝันแบบ Lucid Dream ก็ลองเอาไปทำกันได้นะ แต่ต้องบอกก่อนว่ามันไม่ได้สำเสร็จขนาดที่ว่าใครทำตามสเต็ปนี้แล้วจะควบคุมฝันกันได้ทุกคนนะ ส่วนถ้าใครเคยมีประสบการณ์ Lucid Dream มาแล้วก็มาแชร์ให้เราฟังได้นะ!
-->