LGBTQ+ ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ สู่ความเข้าใจในครอบครัว
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับชาว LGBTQ+ มากขึ้น รวมถึงในทางการแพทย์ที่ให้การยอมรับว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ “ไม่ได้เป็นโรค” หรือ “มีความผิดปกติทางจิตใจ” เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระดับฮอร์โมน สารเคมีในสมอง การเลี้ยงดู และวัฒนธรรมแม้ว่าตอนนี้จะมีกิจกรรมในเดือนมิถุนายนของทุกปี อย่างงาน “Pride Month” ซึ่งเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยความคึกคัก และสีสันแห่งเดือนนี้ก็จริง แต่อัตราการคิดฆ่าตัวตายของชาว LGBTQ+ มีการเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา อย่างการสำรวจของ The Trevor Project องค์กรไม่แสวงกำไรของอเมริกาเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายในเยาวชนเพศทางเลือก พบว่าในปี 2563 เยาวชน LGBTQ+ 42% คิดฆ่าตัวตาย 70% ระบุว่าสุขภาพจิตแย่ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ 48% ต้องการคำปรึกษา และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่บอกว่าครอบครัวให้การยอมรับกับ LGBTQ+
โควิด-19 ทำไม…กระทบต่อสุขภาพ (จิต) ?โควิด-19 กระทบทั้งสุขภาพกายของแถมที่ได้มาคือผลกระทบต่อสภาพจิตใจ โดยเฉพาะมาตราการเว้นระยะห่าง ที่ต้องเรียนออนไลน์ ทำงานแบบ WFH จึงทำให้อยู่บ้านมากขึ้นแทบจะตลอด 24 ชม. เลยก็ว่าได้ เพราะด้วยสถานการณ์แบบนี้ทำให้ LGBTQ+ ในบางส่วนที่โดนครอบครัวปิดกั้นและไม่ได้รับการสนับสนุน บางคนออกไปข้างนอกไม่ได้ จึงต้องปิดบังตัวตนต่อครอบครัว จนทำให้พวกเขารู้สึกว่าบ้านก็อาจไม่ใช่ Comfort Zone ของพวกเขาอีกต่อไป จึงเป็นเหตุผลที่นำพาความวิตกกังวล เกิดภาวะซึมเศร้าหรือแม้กระทั่งการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
คู่มือ(ไม่)ลับ ฉบับคนในครอบครัวเป็น LGBTQ+ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่พวกเขาต้องเผชิญ แต่สิ่งที่กระทบจิตใจของคนเราได้มากที่สุดไม่ว่าเพศไหนๆ ก็คงต้องยอมรับว่านั่นคือ “ครอบครัว” จริงมั้ยล่ะ? บางครั้งคนในครอบครัวหรือคนรอบตัวอาจขาดความรู้ ความเข้าใจในตัวตนของพวกเขา แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเปิดใจ วันนี้เราเลยมีแนวทางการปฎิบัติตัวเมื่อมีคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างเป็น LGBTQ+ ดังนี้
- ไม่คาดเดาเกี่ยวกับเพศสภาพ (gender)
- ไม่ถามคำถามที่ละลาบละล้วง เช่น การถามคำถามถึงความสัมพันธ์ ชีวิตทางเพศ สรีระร่างกาย
- ไม่เปรียบเทียบ ไม่ควรเปรียบเทียบเขากับคนอื่น เพราะจะเป็นการสร้างความกดดันส่งผลให้ไม่อยากเปิดใจกับเรามากยิ่งขึ้น
- พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดให้มากขึ้น พยายามพูดคุย เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้บอกเล่าเรื่องราว และรับฟังความคิดเห็นด้วยความเข้าใจ
- ให้ความสำคัญ ชื่นชมในสิ่งที่เขาทำได้ แต่ไม่ควรอวยจนเกินจริง
- ให้โอกาสได้เรียนรู้ โดยการดูอยู่ห่างๆ และคอยซัพพอร์ตเมื่อจำเป็น
ไม่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะเป็น เด็ก วัยรุ่น หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ สุดท้ายแล้วเราเชื่อว่าสิ่งที่มันคอมพลีทที่สุดก็คงเป็นเรื่องของครอบครัวหรือคนที่เขาแคร์ มีความเข้าใจและพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกความสำเร็จของพวกเขา หรือแม้กระทั้งวันที่เขาล้มลงก็พร้อมจะอยู่ข้างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร ไม่ว่าใคร ทุกคนล้วนอยากแสดงตัวตนได้อย่างอิสระ และใช้ชีวิตในแบบที่พวกเขาเป็น…