Imposter Syndrome เคยรู้สึกมั้ยว่าตัวเอง ‘เก่งไม่พอ’

ถ้าใครเคยมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ทั้งๆ ที่ในสายตาของคนอื่นนั้น คุณนี่แหละคือตัวอย่างของผู้นำ ตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จ หรือเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายๆ คนด้วยซ้ำ แต่ในสายตาของตัวเองคุณมักจะให้เหตุผลของความสำเร็จที่ได้มานั้นว่ามาเพราะโชคช่วย หรือเพราะปัจจัยภายนอกอื่นๆ มากกว่า ไม่ใช่ความสามารถของตัวเองซะหน่อย นั่นแหละ! คือ Mindset ที่บอกว่าคุณกำลังมีสัญญาณของ Imposter Syndrome เข้าให้แล้ว 



จุดเริ่มต้นของความ (รู้สึก) เก่งไม่พอ
ถ้าจะพูดกันแล้ว เราว่าความรู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอ หรือไม่เก่ง ก็นับว่าดีกว่าการที่เราคิดว่าเราเก่งทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เก่งอะไรเลยเป็นไหนๆ เพราะคนกลุ่มแรกจะสร้างความกดดันให้กับตัวเองอยู่เสมอ คอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ดีพอ เก่งพอ(ในความรู้สึกของตัวเอง) ในขณะที่คนกลุ่มหลังเลือกที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนา เพราะคิดว่าตัวเองเก่ง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วพวกเขาอาจจะไม่ได้มีความสามารถหรือมีความพิเศษอะไรเลยด้วยซ้ำ 

ซึ่งถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของ Imposter Syndrome นั้น ได้มีการพูดถึงกลุ่มอาการนี้ในเอกสารวิชาการเรื่อง The Imposter Phenomenon in High Achieving Women: Dynamics and Therapeutic Intervention ที่เขียนโดยนักจิตวิทยาที่ชื่อ Pauline Rose Clance และ Suzanne Imes ในปี พ.ศ. 2521 โดยได้อธิบายไว้ว่า 
 
‘Imposter Syndrome คือความรู้สึกที่เชื่อว่าตัวเองไม่เก่งเหมือนอย่างที่คนอื่นพูด 
แม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนก็ตาม โดยความรู้สึกนี้มักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย’
 

ซึ่งหนึ่งในปัจจัยนั้นอาจจะเป็นเพราะบริบทของสังคมในอดีต ที่มีเรื่องของเพศมาเกี่ยวข้อง โดยเขาได้ทำการสำรวจความคิดของผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จกว่า 150 คน ทั้งคนที่จบปริญญาเอก มีหน้าที่การงานที่ดี หรือเรียกว่าเป็น expert ในสายงานของตัวเอง หรือแม้แต่นักศึกษาที่ได้เกียรตินิยม คนกลุ่มนี้ก็ยังคงเชื่อว่าตัวเอง ‘ไม่เก่ง’ ความสำเร็จที่ได้มานั้นเป็นเพราะโชค หรือมีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น 

สัญญาณเตือนของความคิด! กับ 5 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง
ได้มีการแบ่งประเภทของ Imposter Syndrome ออกเป็น 5 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทนั้นก็จะมีความคิดไปในทิศทางคล้ายๆ กันคือตัวเองยังเก่งไม่พอ มาดูกันว่า Imposter Syndrome นั้นมักจะเกิดกับคนประเภทไหนได้บ้าง และพวกเขามักจะมีความคิดแบบไหนอยู่ในหัวกันแน่ 

#1 The Perfectionist
กลุ่มคนที่รักความสมบูรณ์แบบ ตั้งมาตรฐานไว้สูงลิ่บ ไม่สามารถยอมรับกับความผิดพลาดได้ แม้จะเป็นส่วนน้อยก็ตาม ทำให้เกิดความสงสัยในความสามารถของตัวเอง
สิ่งที่คิดอยู่ในหัว: ‘ถ้ามันยังมีข้อผิดพลาด นั่นแปลว่าเรายังดีไม่พอ’

#2 The Superwoman / Superman 
คนกลุ่มนี้ต้องการความสำเร็จในทุกๆ ด้านของชีวิต แบบ 360 องศา ทั้งการงาน การเงิน ครอบครัว เพื่อน รวมไปถึงคู่รัก เพราะฉะนั้นถ้ามีส่วนใดส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ จะเริ่มเครียดและกดดันทันที
สิ่งที่คิดอยู่ในหัว: ‘ฉันยังทำงานหนักไม่พอ ฉันต้องทุ่มเทมากกว่านี้’

#3 The Soloist
กลุ่มคนที่คุ้นชินกับการทำอะไรให้สำเร็จด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะไม่ชอบการพึ่งพาคนอื่น เพราะการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นสำหรับพวกเขา แปลว่าพวกเขามีความสามารถไม่มากพอ เมื่อเจอปัญหา ก็จะแก้ด้วยตัวเอง
สิ่งที่คิดอยู่ในหัว: ‘การพึ่งพาหรือขอความช่วยเหลือคือความล้มเหลว ถ้าเราเก่งพอ เราจะไม่ต้องพึ่งพาใคร’

#4 The Expert
คนกลุ่มนี้ไม่ว่าจะทำอะไร จะต้องมีข้อมูลเตรียมพร้อมอยู่ในมืออย่างครบถ้วน เพราะมีความเชื่อว่าจะต้องรู้ทุกอย่างให้ลึกที่สุด ถึงจะอุ่นใจ และกล้าที่จะลงมือทำ
สิ่งที่คิดอยู่ในหัว: ‘ไม่ว่าใครจะถามอะไร เราต้องตอบได้ทุกคำถาม’

#5 The Natural Genius                                                                                                                                                                                                                                           กลุ่มนี้คือคนอัจฉริยะ ที่มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง พวกเขามักจะคุ้นชินกับการใช้สมองที่ชาญฉลาดในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เจอกับความท้าทาย หรือสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ พวกเขาจะเริ่มมีความรู้สึกด้อยค่าตัวเอง คิดว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ
สิ่งที่คิดอยู่ในหัว: ‘ถ้าเราต้องใช้ความพยายามที่มากกว่าปกติ แสดงว่าเราเก่งไม่จริง’

ความหายนะ! เมื่อก้าวเข้าสู่ Imposter Syndrome
ผลเสียของการมีความรู้สึก ‘เก่งไม่พอ’ จนบั่นทอนชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้วคุณเองคือคนเก่งที่ได้รับการยอมรับ และมีหลักฐานเป็นเครื่องพิสูจน์ นั่นก็คือ การที่มีความรู้สึกในเชิงลบนี้ จะทำให้คุณพลาดโอกาสดีๆ ในชีวิตไป พลาดโอกาสในการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือทำให้คุณกลายเป็นคนไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรเลย ในขณะเดียวกันการที่พูดกรอกหูตัวเองอยู่ซ้ำๆ ว่าเรายังเก่งไม่พอ อาจจะกดดันตัวเองจนทำให้เกิดภาวะ Burnout สุขภาพจิตแตกสลายกลายเป็นซึมเศร้าเลยก็มี 

เตรียมวิธีรับมือ! เพื่อเอาชนะ Imposter Syndrome
วิธีที่จะใช้ดีลกับปัญหาเรื่องของความรู้สึก คือการเอาตัวเองออกจากความคิด แล้วมองตามหลักความเป็นจริง ยิ่งเป็นความจริงที่มีหลักฐานด้วยแล้ว ถึงเวลาที่คุณต้องเติมความเชื่อมั่นในตัวเองแล้วล่ะ เรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตัวเอง ชมตัวเองในวันที่ทำสิ่งต่างๆ ได้ดี หรือลองหาคนสนิท ที่สามารถเปิดใจพูดคุย ลองนั่งให้พวกเขา reflect ความสำเร็จของคุณ แล้วลองมองตัวเองเหมือนเป็นบุคคลที่สาม ว่าถ้าคุณเป็นเขา คุณจะภูมิใจแค่ไหน จำโมเมนต์นั้นไว้ แล้วพูดกับตัวเองซ้ำๆ ว่าคุณทำดีแล้ว คุณเก่งพอ ทั้งในสายตาของคนอื่น และในสายตาของตัวเอง 

เอาเป็นว่าทุกคนมีทั้งข้อดีข้อเสีย เมื่อคุณคิดว่าคุณดีไม่พอ ข้อดีคือคุณจะพยายามทำสิ่งๆ นั้นให้ดีขึ้น พยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ซึ่งผลลัพธ์มันก็ดีกับตัวคุณเองนั่นแหละ เพียงแต่ว่าอย่าไปกดดันตัวเองมากเกินไป จนชีวิตไม่มีความสุข ลองเริ่มต้นจากการชื่นชมตัวเองในทุกๆ วันก่อนเข้านอน และให้กำลังใจตัวเองในทุกๆ เช้าก่อนออกจากบ้านดูสิ แค่นี้สารความสุขในตัวคุณอาจจะหลั่งมากขึ้นก็ได้นะ และสำหรับใครที่กำลังเผชิญกับ Imposter Syndrome อยู่ ก็แชร์ความรู้สึกกันมาได้ เรารอฟังอยู่นะ!
 
-->