เหงื่อออกมือบ่อย…ใช่สัญญาณเตือนโรคหัวใจหรือเปล่า?
มีหลายคนที่เผชิญกับปัญหาเหงื่อออกมากจนส่งผลเสียในการใช้ชีวิตประจำวัน และมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่า เหงื่อออกมือบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ ดังนั้นหากปัญหานี้กำลังกวนใจคุณอยู่ คุณอาจจะต้องหาวิธีการรับมือที่ถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหงื่อออกแบบไหนเรียกผิดปกติ ?
ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) เกิดจากต่อมเหงื่อและระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมเหงื่อนั้นทำงานผิดปกติ แม้ว่าภาวะเหงื่อออกมากจะไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ถ้าเหงื่อออกมาจนเกิดความผิดปกติ ก็อาจส่งผลโดยตรงกับเราได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่เหงื่อมักจะออกบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือ รักแร้ ซึ่งภาวะเหงื่อออกที่ผิดปกติ มักจะสังเกตได้ไม่ยาก เพราะคนที่มีภาวะนี้มักจะเหงื่อออกตลอดเวลา แม่ในวันที่อากาศไม่ร้อน หรืออยู่ในห้องแอร์ ไม่มีอาการตื่นเต้นหรือภาวะเครียด รวมทั้งไม่ได้ออกกำลังกาย ซึ่งดูเผินๆ ก็พอจะเห็นภาพความผิดปกติของเราได้แล้ว ดังนั้นหากใครรู้สึกว่า เริ่มส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การทำงาน รวมทั้งการเข้าสังคม ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษา และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน
เหงื่อออกมือบ่อยๆ คือสัญญาณเตือนโรคหัวใจ ?
หากพูดถึง เหงื่อออกมือบ่อยๆ หลายคนจะเข้าใจไปก่อนเลยว่า ต้องเป็นโรคหัวใจอย่างแน่นอน ซึ่งความจริงแล้ว ภาวะเหงื่อออกมือเป็นเพียงลักษณะอาการหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในทางการแพทย์ความผิดปกติเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
1. ความผิดปกติในร่างกายที่เกิดจากตัวโรค
- โรคหัวใจ ที่จะมีลักษณะอาการมีเหงื่อออกบริเวณมือเป็นจำนวนมาก ร่วมกับใจสั่น เหนื่อยหอบ เนื่องจากร่างกายมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานมากในการสูบฉีดโลหิต ทำให้ความร้อนในร่างกายนั้นสูงขึ้น ทั้งนี้ โรคหัวใจมีผลโดยตรงกับระบบประสาทอัตโนมัติ
- โรคเครียด โดยปกติคนที่มีภาวะความเครียด จะมีเหงื่อออกมากบริเวณมือ ใบหน้าและฝ่าเท้า โดยอาจจะมีอาการใจสั่น และมือสั่นร่วมด้วย
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ จะมีเหงื่อซึมทั้งตัวและบริเวณฝ่ามือ อาจมีการหนาวสั่น ผมร่วง หรือรู้สึกกระหายน้ำอยู่บ่อยครั้ง
- โรคเบาหวาน โดยปกติโรคเบาหวานจะมีเหงื่อออกมากบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า มีอาการเหนื่อยหอบและคล้ายจะเป็นลม
2. ความผิดปกติที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักมีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ในชีวิตได้ง่าย
แก้ปัญหาอย่างไร? ให้ได้ผลดีแบบ for good
ปัญหาเหงื่อออกมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะไม่มีความรุนแรง แต่กลับส่งผลกระทบไม่น้อยในการใช้ชีวิตและการทำงาน สร้างความกังวลใจ การเข้าสังคม และอาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจได้ในระยะยาวได้ ดังนั้นหากเรารู้สึกว่าเริ่มมีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาและหาแนวทางการแก้ไขในระยะยาว เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยการรักษาก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะมีตั้งแต่การทายาและกินยา การฉีดโบท็อกซ์ หรืออาจจะรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องที่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตามในกลุ่มของผู้ที่มีภาวะเหงื่อออกมากที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคเครียด โรคเบาหวาน หรือ ผู้หญิงที่กำลังจะหมดประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ทั้งนี้แพทย์ผู้ทำการรักษาจะรักษาตามขั้นตอนของการรักษาโรคนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้ภาวะเหงื่อออกมืออยู่ในสภาวะที่ปกติได้
แม้ว่าภาวะเหงื่อออกมาก จะเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนโรคหัวใจและโรคอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นโรคนั้นๆ ดังนั้นการเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีที่สุด