เมื่อฉันเป็น “คุณรุจน์” ในที่ทำงาน แล้วต้องจัดการตัวเองยังไงดี?
เคยเจอกันมั้ยที่อยู่ในจุดที่ Job description แทบไม่มีความหมายในการทำงานเลย เพราะนู่นก็ต้องทำ นี่ก็ต้องทำ เยอะแยะมากมายไปหมดจนคิดว่า ‘นี่ฉันเหมือนคุณรุจน์เหมือนกันนะเนี่ย’ อยากให้วันนึงมีสัก 48 ชั่วโมงก็คงจะดีคุณรุจน์คือใคร? ใครคือคุณรุจน์?
คุณรุจน์เป็นตัวละครเรียกเสียงฮาจากซิตคอมอันโด่งดังเรื่องเนื้อคู่ประตูถัดไปนั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นเจ้าบทบาทเลยเพราะคุณรุจน์ได้สวมบทบาทมากมายเต็มไปหมดเป็นยาม เป็นแม่บ้าน เป็นคนสวน เป็นตำรวจ จนได้หลายสรรพนามทั้งคุณรุจน์ พี่รุจน์ ป้ารุจน์ ยามรุจน์ จ่ารุจน์ ด้วยคาแรคเตอร์นี้เองทำให้เรามักเรียกคนที่เป็นทุกอย่างให้เธอแล้วว่า “คุณรุจน์”
เมื่อมีคุณรุจน์เกิดขึ้นในชีวิตการทำงานจริง ๆ
งานนี้ไม่มีคนทำเลย ทำยังไงดีล่ะทีนี้? อ๋องั้นก็ให้เธอทำแล้วกัน สุดท้ายก็เป็นเราที่ต้องมาแบกงานนี้ไว้ หรือบางครั้งคนนี้ลา คนนั้นลา แต่ก็กลับกลายเป็นเราที่ต้องมาทำงานแทนพร้อมกับปัญหา 108 ที่ตามมา เช่น คุณเป็นพนักงานไอทีของบริษัทแต่ถ้าในขณะเดียวกันคอมพิวเตอร์บ้านเจ้านายมีปัญหาก็เป็นคุณที่ต้องไปซ่อม
ก็จริงที่ว่าเราได้รับโอกาสฝึกฝนและเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น เติบโตเป็นคนที่แข็งแกร่ง จริง ๆ ไม่มีความสำเร็จไหนโรยด้วยกลีบกุหลาบหรอกทุกอย่างล้วนมีอุปสรรค แต่การเติบโตที่บั่นทอนชีวิตจิตใจ ไม่มีเวลาพักผ่อน จากงานที่ดีใจที่ได้ทำกลับกลายเป็นภาระในชีวิตที่กินเวลาทำเอาระบบรวนไปซะหมด สุดท้ายรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันเกินความสามารถของเราแล้วนะ
แล้วจะทำยังไงดี? ถ้าตัวเรานี่แหละคือคุณรุจน์ของออฟฟิศ
ลองคิดดูว่าหากวันนึงเราต้องรับบทคุณรุจน์ ป้ารุจน์ ยามรุจน์ขึ้นมา เราจะจัดการตัวเองและความคิดของเรายังไงให้ส่งผลกระทบได้น้อยที่สุด
1. รู้จักการปฏิเสธ
การตอบว่า ‘ไม่’ หรือ ‘ปฏิเสธ’ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครบางคนด้วยความที่เกรงใจไม่รู้จะปฏิเสธยังไงดีหรือจะด้วยบุญคุณก็ตาม อย่างที่บอกว่าในตอนแรกตัวเราเองตอบรับเพราะอยากทำสิ่งใหม่ ๆ แต่เมื่อได้ลองทำไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันฝืนแล้ววว สุดท้ายส่งผลต่อคุณภาพของงาน เราว่าการพูดปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาแบบสุภาพ พร้อมเหตุผลที่มีน้ำหนักก็เป็นทางออกที่ดีนะ
2. พูดคุยกับหัวหน้าตรง ๆ
ถึงแม้ว่าคนสั่งงานเราก็คือหัวหน้า แต่ยังไงการได้พูดคุยตรง ๆ ก็ย่อมส่งผลดีกว่า ทำให้เราได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเค้านะ การพูดคุยกันไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป อยากให้มองว่าเป็นการช่วยกันหาทางออกมากกว่า ในเมื่อหัวหน้าเองก็อยากได้งาน ขณะที่เราเองก็เกินจะต้านแล้ว มาคุยข้อตกลงกันดีกว่าว่ามีอะไรพอจะช่วยได้บ้าง เช่น กระจายงานให้คนอื่นในทีมด้วย การเพิ่มค่าตอบแทน เป็นต้น
3. ถวายกาย ถวายใจให้งาน เพราะ ‘งานหนักไม่เคยฆ่าใคร’
จริง ๆ ถ้าเราลองมองอีกแง่มุมมันก็คือการอัปสกิลตัวเองเหมือนกัน ตราบใดที่งานไม่ได้ไร้สาระถึงขั้นต้องไปเป็นคนใช้ใครแล้วล่ะก็ มันก็เหมือนเราเดินนำคนอื่นอยู่สองสามก้าว มีงานใส่พอร์ต ใส่เรซูเม่แน่นปึ้ก ในขณะที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันยังสั่งสมประสบการณ์ไปไม่ถึงไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำสิ่งนี้คือการมีสมดุลในชีวิตนะ บริหารเวลาทำงานกับเวลาใช้ชีวิตให้อยู่ในจุดที่เราพึงพอใจแบบไม่เกินขีดจำกัดของตัวเอง
4. ลาออก! อย่างนี้ต้องลาออก!
หากทั้งหมดทั้งมวลที่เราได้แชร์มานี้ไม่ได้รับผลลัพธ์อย่างมีวุฒิภาวะแล้ว ก็อาจจะถึงเวลาบอกลาที่แห่งนี้แล้วแหละ การลาออกไม่ใช่เราแพ้หรืออ่อนแอนะ มองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำอะไรใหม่ ๆ เจออะไรใหม่ ๆ ดีกว่านะ ถ้าเราคุยกับตัวเองดีพอแล้วว่าการอยู่ในสถานะคุณรุจน์แบบนี้ไม่ได้ส่งผลดีกับเราสักเท่าไหร่เลย ตัดสินใจโบกมือลาคนรอบตัวจบกันอย่างสวยงามดีที่สุด
แต่การลาออกก็เป็นความเสี่ยงอีกแบบนึงนะ ในโลกแห่งการทำงานไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าจะไม่พบเจอเหตุการณ์แบบเดิม เราไม่อาจคาดการณ์อนาคตได้นั่นแหละ จะไปเจอองค์กรแบบไหน เจอหัวหน้าแบบไหน เพื่อนร่วมงานแบบไหน มันอาจจะดีกว่าหรือแย่กว่าก็ได้ไม่มีใครบอกได้ อยู่ที่การตัดสินใจของเราทั้งนั้น
แม้ว่า “คุณรุจน์” ในซิตคอมจะเรียกเสียงฮาให้ผู้ชมอย่างมหาศาล แต่บอกเลยว่าคุณรุจน์ในชีวิตจริงไม่ฮาอย่างที่คิดเลย ทั้งนี้แล้วใครที่กำลังรู้สึกตัวเองเป็นคุณรุจน์อยู่ อยากให้ลองคิดทบทวนกับตัวเองดูนะ เพราะไม่มีงานไหนที่คู่ควรกับการแลกสุขภาพจิตของเราหรอก!
ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร