Food Stylist ศิลปะการตกแต่งอาหาร เบื้องหลังโฆษณาที่ใครเห็นเป็นต้องท้องร้อง
ภาพอาหารในโฆษณาที่เราเห็นแล้วท้องร้องดังจ๊อกกก! เชื่อหรือเปล่าว่าเบื้องหลังของภาพโฆษณาที่เราเห็นไม่ว่าจะในทีวีหรือภาพในเมนูอาหารที่ดูดีมากๆ เนี่ย ผ่านการสร้างสรรค์และครีเอทรายละเอียดยิบย่อยจากฟู้ดสไตลิสท์หรือนักตกแต่งอาหารมาแล้วทั้งนั้น วันนี้เราจึงได้มานั่งคุยกับ เฟย์-วรรธนี จันทรมิตรี ฟู้ดสไตลิสท์ผู้อยู่เบื้องหลังโฆษณาอาหารมากมายทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮะจิบัง พิซซ่าคอมปะนี เซเว่นอีเลฟเว่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งอาหารสุนัขเพดดีกรีเธอก็เคยผ่านมือเธอมาแล้ว เรามาทำความรู้จักเธอกันเลยดีกว่า
Food Stylist กับศิลปะการตกแต่งอาหาร
“หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าฟู้ดสไตลิสคือช่างภาพ จริงๆ แล้วหน้าที่ของฟู้ดสไตลิสท์ก็คือการครีเอทและตกแต่งอาหารให้ดูน่ากิน เหมาะกับการถ่ายรูปหรือวิดีโอเพื่อการโฆษณาที่เราเห็นอยู่ทั่วไปตามทีวี โฆษณาบนโลกออนไลน์ นิตยสาร หนังสือสอนทำอาหาร หรือแม้แต่เมนูอาหารที่เราใช้สั่งนั่นแหละ ซึ่งหน้าที่ของฟู้ดสไตลิสก็คือดูแลการตกแต่งอาหาร รวมไปถึงองค์ประกอบ พร็อพตกแต่ง มู้ดแอนด์โทน ที่จะช่วยผลักให้ภาพรวมออกมาสวยงาม ตรงกับความต้องการของลูกค้าและภาพลักษณ์ของแต่ละเเบรนด์ด้วย”
First Step สู่เส้นทางนักครีเอท
ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นพนักงานประจำอยู่ที่นิตยสารอาหาร และเป็นจุดเริ่มต้นที่เธอได้รู้จักกับอาชีพนี้ “แต่ก่อนเราเคยเป็น AE อยู่ที่นิตยสารอาหาร ซึ่งก็จะทำหลายอย่างทั้งในส่วนที่เป็นสือ จัดอีเว้นท์ จัดเวิร์คช็อป รวมถึงการประสานงานให้กับพี่ที่เป็นฟู้ดสไตล์ลิสด้วย ทำให้เรารู้จักว่ามีอาชีพนี้ แล้วก็เริ่มสนใจ” ในช่วงที่เธอยังทำงานเป็น AE อยู่เธอก็มีโอกาสช่วยงานฟู้ดสไตลิสอยู่บ่อยๆ ทั้งช่วยตวงอาหาร จัดเตรียมของต่างๆ ทำเธอให้รู้สึกชอบ เลยเริ่มไปลองเป็นผู้ช่วยฟู้ดสไตล์ลิสแบบจริงๆ จังๆ เพื่อหาประสบการณ์
โฆษณาที่เห็นในทีวีสั้นๆ ความจริงแล้วเบื้องหลังใช้เวลาถ่ายทำนานมาก
เธอเล่าว่าภาพอาหารที่เห็นในโฆษณา แท้จริงแล้วเบื้องหลังมีดีเทลเยอะกว่าที่คิด “เราเคยทำงานตัวนึงเป็นวิดีโอโฆษณาเมนูใหม่ของฮะจิบัง วิดีโอ 15 วินาทีที่เห็นแค่ฉากลวกเส้นราเมน โยนส่วนผสมต่างๆ เห็ดหอมกระเด็น ปลาหมึกแห้งเด้งบนอากาศ แต่เบื้องหลังจริงๆ ใช้เวลาถ่ายทำนาน 16 ชั่วโมง ก่อนหน้าถ่ายทำก็ต้องลองทำ Pre-pro หรือการลองทำให้ลูกค้าดูก่อนว่าภาพจะออกมาเป็นยังไง”
รายละเอียดที่คนเป็น Food Stylist ต้องใส่ใจ
เธอเล่าอีกว่าเทคนิคและรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในโฆษณา ต้องผ่านการคิดและทดลองหลายรอบจนกว่าจะออกมาสมบูรณ์แบบ “แค่ฉากดึงผักกาดหอมให้ขาดครึ่ง เสียงกรอบดังกร๊วบ น้ำกระจายชุ่มฉ่ำออกมา ฉากเดียวใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง เพราะมันดึงเฉยๆ ไม่ได้นะ ต้องใช้มีดแอบแซะเพื่อเป็นมุมในการดึง ผักกาดแต่ละลูกก็ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกลูกที่จะมีมุมให้แซะ บางลูกมีช่องให้หยอดน้ำได้ บางลูกก็ไม่มี พวกนี้คือรายละเอียดที่เราต้องทำการบ้านเยอะพอสมควร เราต้องเข้าใจธรรมชาติของทุกๆ อาหารที่เราจะถ่ายให้ได้”
ความท้าทายที่มาพร้อมกับปัญหาเฉพาะหน้า
“ความท้าทายคือสมองเราต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ต้องคิดแล้วว่าเตรียมของหรือวัตถุดิบ ต้องเตรียมกี่โมงไม่ให้มันเสีย ทำยังไงให้ภาพในหัวมันออกมาเป็นของจริงได้ การเตรียมพร้อพที่จะช่วยให้ภาพออกมามู้ดแอนด์โทนได้ และต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเยอะมาก” กว่าจะออกมาเป็นภาพที่สวยงาม เธอต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและพลังสมอง
ล้วงลึก! เบื้องหลังโฆษณาที่คนนอกไม่เคยได้สัมผัส
“บางทีภาพที่เห็นในโฆษณาอาจไม่ใช่อาหารจริงๆ ก็ได้” เธอแอบกระซิบให้เราฟังอย่างอารมณ์ขัน “บางครั้งไอศครีมที่เห็นในโฆษณา จริงๆ แล้วอาจจะเป็นมันบดผสมสี เพื่อให้ง่ายต่อการถ่ายทำ ไฟสตูจะส่องแรงแค่ไหนก็ไม่ละลาย หรือบางทีอาจจะใช้สารตัวอื่นมาทำให้มันไอศครีมของจริงอยู่ได้นานขึ้น อย่างโยเกิร์ต เนื้อนุ่มเด้งดึ๋งที่เห็นในโฆษณา จริงๆ อาจเป็นโยเกิร์ตปลอมที่ฟู้ดสไตลิสทำขึ้นมา ใช้สำหรับถ่ายทำแต่กินไม่ได้จริงก็มี หรือรอยกริลบนสเต็กที่สวยๆ เขาไม่ได้เอาไปกริลจริงหรอก แค่ทำให้เนื้อพอสุกแล้วใช้เหล็กเส้นร้อนๆ มานาบให้เป็นรอยกริลสวยๆ พวกนี้คือเทคนิคที่เราต้องทำการบ้านอยู่ตลอด เรียนรู้จากฟู้ดสไตล์ลิสต่างประเทศว่าเขามีเทคนิคยังไง เพราะแต่ละคนก็จะมีเทคนิคไม่เหมือนกัน”
อยากถ่ายรูปอาหารให้ดูน่ากิน ต้องคำนึงถึงสิ่งนี้!
ใครที่ชอบถ่ายรูปอาหารสวยๆ ลองเอาเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ได้เลย เพราะนี่คือเทคนิคที่ฟู้ดสไตลิสอย่างเธอให้ความสำคัญสุดๆ “การวางองค์ประกอบของภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ละคนก็จะมีสไตล์การวางในแบบของตัวเอง มุมที่ถ่ายแล้วสวยส่วนใหญ่จะเป็นมุมท็อปคือถ่ายจากด้านบน มันจะข้ามข้อจำกัดในส่วนของแองเกิลได้ดี พรอพหรือของตกแต่งก็สามารถส่งเสริมให้รูปดูดีขึ้นได้เหมือนกัน ในส่วนของทฤษฎีสีก็มีความสำคัญ คือต้องดูว่าจะวางกลุ่มสียังไงให้มันเอื้อกัน สีไหนอยู่ด้วยกันแล้วดึงดูด อย่างสีฟ้าอาจไม่ใช่สีที่ดึงดูดสำหรับอาหารเท่าไหร่ รวมถึงแสง ก็มีส่วนทำให้ภาพอาหารออกมาสวย”
คุณสมบัติที่ต้องมี ถ้าคิดจะเป็น Food Stylist
สำหรับใครที่อยากทำอาชีพฟู้ดสไตลิส นี่คือ 4 คุณสมบัติที่เธอบอกเลยว่าต้องมี “เราว่าคนที่อยากเป็นฟู้ดสไตลิส โดยพื้นฐานต้องชอบอาหาร ไม่ว่าจะชอบกิน ชอบทำ หรือชอบดู เพราะเราต้องทำงานกับอาหารตลอดเวลา ต้องมีหัวศิลปะด้วย เพราะเราต้องทำออกมาให้มันสวย เรื่องแบบนี้ต้องดูเยอะๆ ให้มันซึมเข้าไปในหัว ต้องเข้าใจเรื่องมาร์เก็ตติ้ง อันนี้สำคัญมาก บางคนทำออกมาสวยมากแต่ดูไม่น่ากิน ซึ่งมันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของลูกค้า คือเราต้องเข้าใจว่าทาร์เก็ตคือใคร ทำยังไงจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ด้วย อย่างสุดท้ายคือต้องอัธยาศัยดีและมีความ Professional เพราะเราต้องสื่อสารกับลูกค้า ช่างภาพ และทีมงานหลายคนมาก”
จากที่ได้คุยกับเธอวันนี้ทำให้เราได้ทำความรู้จักกับอาชีพฟู้ดสไตลิสแบบเรียลๆ และได้เห็นอีกหนึ่งมุมมองจากเบื้องหลังที่กว่าจะออกมาเป็นวิดีโอโฆษณาหรือภาพๆ หนึ่งได้ ต้องผ่านความครีเอทและความพยายามหลายตลบมาก ซึ่งจุดนี้แหละคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอินสไปร์สุดๆ นอกจากความสร้างสรรค์ และความอดทนแล้ว เราเชื่อว่าไหวพริบของเธอนี่แหละที่ทำให้เธอผ่านปัญหาเฉพาะหน้าในการทำงานได้ทุกครั้ง