Broken Heart Syndrome โรคอกหักเพราะรักมักเป็นแบบนี้
“อกหักไม่ยักกะตาย” อาจใช้ไม่ได้แล้วหลังจากที่มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอเบอร์ดีน ประเทศสกอตเเลนด์ทำการศึกษาคนไข้ที่อกหักรักคุดขั้นรุนเเรงจำนวน 37 คน พบว่า อาการอกหักสามารถส่งผลต่อการทำงานของหัวใจในระยะยาว โดยจะส่งผลให้หัวใจกล้ามเนื้ออ่อนเเรง บางส่วนมีลักษณะพองขึ้น เเละทำให้ความสามารถในการสูบฉีดเลือดมีปัญหาได้ แย่ละ! แบบนี้เห็นทีว่าคงต้องปรึกษา นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตคู่และสุขภาพทางเพศ โรงพยาบาลพญาไท 2 เพื่อเตรียมการรับมืออาการอกหัก พร้อมหาทางมูฟออนกันหน่อยแล้ว
“อกหัก” เจ็บ (ป่วย) จริงหรือคิดไปเอง
ที่จริงแล้วโรคอกหักนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอาการอกหัก คุณหมอเริ่มต้นแก้ไขความเข้าใจใหม่ พร้อมอธิบายต่อว่า “จริงๆ แล้วคำว่า Broken heart syndrome (หัวใจสลาย) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Stress-induced Cardiomyopathy, Takotsubo Cardiomyopathy หรือ Apical ballooning syndrome คือ ภาวะที่ความสามารถในบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน แต่เราต้องใช้คำว่า "อกหัก" ให้ชัดเจนในประเด็นที่จะคุยกันต่อ คือพูดง่ายๆ ว่า "อกหัก" หมายถึงความผิดหวังที่จากคนที่เรารัก เขาไม่รักเราตอบ และคำว่ารักในที่นี้ หมายถึงความเสน่หา (Passionate Love) ไม่ใช่ความรักแบบเมตตา (Compassionate Love) ซึ่งปัจจัยที่เป็นเหตุให้อาการอกหักมีความรุนแรงมากขึ้นจะขึ้นอยู่กับ
● รักครั้งแรก ยังไม่มีภูมิต้านทานของชีวิต
● รักมาก คาดหวังไว้สุง อกหักเหมือนตกตึก
● เป็นคนที่มีอุปนิสัยต้องการเป็นที่รัก (Give to be get, Need to be needed)
คนพวกนี้อกหักแล้วจะเป็นหนัก ต่างจากคนที่มีอุปนิสัยชอบหาความสำเร็จจากเรื่องงาน (Achiever) หาความสำราญจากชีวิต (Epicure) จิตตกแล้วก็ฟื้นตัวไม่ยาก “
(โรค) อกหักรักษา...ได้
ถึงแม้ว่าอาการอกหักจะส่งผลรุนแรงได้กับคนที่ชีวิตไม่เคยเจอกับความผิดหวัง คนที่โหยหาความรัก ต้องการให้ตนเองเป็นที่รักของคนอื่น ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพอมีทางออกอยู่บ้าง โดยคุณหมอได้ให้คำแนะนำว่า “เมื่ออกหักแล้ว เบื้องต้นอาจปรึกษาคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจได้ เล่าระบายสิ่งที่อยู่ในใจ ร้องไห้โดยไม่ต้องมีใครห้าม ถ้าอาการหนักเกินกำลังก็อาจต้องพบ Professional Counsellor ซึ่งมีเทคนิควิธีการบำบัดให้ผ่อนคลาย อาจจำเป็นต้องพบจิตแพทย์กรณีที่มีปัญหาเรื่องการนอน เพราะการนอนไม่พอทำให้ตอนกลางวันเรายังไม่หยุดฟุ้งซ่าน นอกจากนี้การอกหัก รวมถึงความผิดหวังเรื่องอื่นๆ เช่น การเรียน ครอบครัว ฯลฯ เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ในกรณีที่บางคนมีพันธุกรรมของโรคซึมเศร้าในประวัติครอบครัว ซึ่งจิตแพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressants) และยาคลายกังวล (Anxiolytic Drugs) เพื่อให้คลายความฟุ้งซ่าน และนอนหลับได้เต็มที่"
SOURCE : https://film-grab.com
อกหักทำให้เรากลับมารักตัวเองได้
“ส่วนในมุมของผู้ที่อกหัก ก็ให้ถือว่าเป็นเวลาที่ต้องกลับมารักตัวเองให้มากขึ้น ทำตัวเองให้มีค่ามากขึ้น จัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้น่าอยู่มากขึ้น เพื่อลบภาพจำเดิมๆ และยอมรับว่าทุกอย่างมีความเป็นอนิจจัง ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลง การผิดหวังในชีวิต รวมทั้งการอกหัก น่าจะถือเป็นหลักสูตรภาคบังคับสำหรับชีวิตวัยรุ่นที่อนาคตเราต้องมีภูมิต้านทานต่อความไม่สมหวังในเรื่องต่างๆ ของชีวิต อย่าจมจ่อมอยู่กับความเศร้า แล้วซ้ำเติมตนเองด้วยการฟังเพลงเศร้า เก็บตัว หมกมุ่นอยู่กับภาพจำเดิมๆ ยิ่งทำให้ตัวเองหล่นแบบไม่หลุด ให้พยายามปรับเปลี่ยนความคิดโดยมองว่าชีวิตยังไม่สิ้นสุด พลาดรักครั้งแรกอาจเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เราได้เจอคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็ได้”
ถึงแม้เราจะอกหักแต่เราก็ต้องกลับมาฮีลใจให้ตัวเอง เมื่อเรารู้สึกว่าไม่มีใครอยู่ข้างเรา อย่างน้อยเรายังมีตัวเราที่ต้องให้เป็นห่วงมากที่สุดและมีตัวเราเองให้รักที่สุด เพราะแบบนี้อย่ามัวแต่เศร้าและคิดว่าไม่มีใครรัก อย่างน้อยเรายังมีตัวเรานะ Healthaddict เป็นกำลังใจให้ฝ่าฟันอุปสรรคนี้ไปได้นะ ฮึบบ!!