9 สัญญาณที่บอกว่าคุณ “โคตรเหงา” แม้คุณจะบอกว่าไม่ใช่ก็เถอะ

“ความเหงาฆ่าคนได้” ไม่ใช่ประโยคที่พูดกันขำๆ แต่มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นความจริง ซึ่ง “เทเรซ่า เมย์” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอังกฤษ ได้ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง กระทั่งมีการตั้ง “กระทรวงความเหงา” ขึ้นมาดูแล

ความเหงาจึงกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข เพราะทำให้ความดันโลหิตสูง ระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งโรคซึมเศร้า วิธีป้องกันและเยียวยาจึงไม่ใช่การออกกำลังกาย แต่เป็นการรักษาความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อน
ทั้งนี้ หลายคนไม่คิดว่าตัวเองกำลังเหงา แต่ร่างกายเราก็ส่งสัญญาณบางอย่างออกมาถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น


1) รู้สึกเหนื่อยล้าเป็นประจำ – ในปี 2011 เว๊บไซต์ National Center for Biotechnology Information ได้เผยแพร่งานวิจัยพบว่าความเหงาทำให้คนเราหลับไม่สนิท หรือหลับๆ ตื่นๆ และแม้ว่าคุณจะบอกว่าหลับดีทั้งคืน แต่ความรู้สึกเหนื่อยเหมือนไม่ได้นอนถือเป็นสัญญาณอันตรายเลยล่ะ.... เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่พบเจอเพื่อนฝูงหรืออยู่กับครอบครัว ก็จะพบความแตกต่างของคุณภาพการนอนหลับอย่างชัดเจน

2) สนใจของนอกกายอย่างมาก – มีการสังเกตการณ์กลุ่มตัวอย่าง 2,500 คนนาน 6 ปี พบว่าความเหงาเป็นตัวขับเคลื่อนให้คนออกไปช้อปปิ้งและมีแนวโน้มจะซื้อมากกว่าปกติ จึงสรุปว่า “วัตถุนิยม” เชื่อมโยงกับความเหงา (แต่วัตถุนิยมไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คนเหงา) ... ดังนั้นถ้าคุณพบว่าตัวเองพิถีพิถันจนถึงขั้นหมกมุ่นกับข้าวของเครื่องใช้ แถมช้อปปิ้งเยอะกว่าคนอื่น แสดงว่าคุณมีปัญหาแล้วล่ะ

3) อาบน้ำร้อน แถมอาบนาน – วารสาร Emotion ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สะท้อนความเชื่อมโยงของอุณหภูมิกับความรู้สึกอบอุ่น โดยเฉพาะเมื่อผู้คนรู้สึกว่าตัวเองเหงา พวกเขาจะหาสิ่งทดแทน “ความหนาวเหน็บ” ในใจ ด้วยการทำให้ร่างกายอบอุ่น เช่น การอาบน้ำอุ่นยังไงล่ะ



4) หยุดดูทีวีไม่ได้ – การดูหนังหรือซีรีย์แบบมาราธอน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคนๆ นั้นทั้งเหงา ซึมเศร้า และควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่ง University of Texas บอกว่าเกี่ยวข้องกันจริง การดูทีวีหรือซีรีย์นานๆ เป็นการเบนความสนใจตัวเองออกจากความเหงา ยิ่งเหงาเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูได้นานแบบมาราธอนเท่านั้นแหละ

5) หงุดหงิดได้แม้แต่เรื่องเล็กๆ – ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเครียดกว่าปกติ นั่นอาจเพราะความเหงา ซึ่ง Psychology Today บอกว่าถ้าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาคุณหงุดหงิดได้แม้แต่กับเรื่องเล็ก เพราะร่างกายได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเหงา ทำให้มีการปล่อยฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมามากกว่าปกติ และระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น

6) ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากกว่า 2 ชม. ต่อวัน – มีการวิจัยยืนยันว่าคนที่ใช้โซเชียลมีเดียนานๆ วันละมากกว่า 2 ชั่วโมง จะมี “สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม” (Social Isolation) อยู่สูง แต่ยังไม่แน่ชัดว่าโซเชียลมีเดียเป็นเหตุหรือผลของความโดดเดี่ยว ทว่าการปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ได้แทนที่การปฏิสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์ โดยที่เราเองก็ยินยอมพร้อมใจกับปรากฏการณ์นี้



7) คุณมีแต่เพื่อนเหงาๆ – มีการศึกษาพบว่าความเหงา “แพร่กระจาย” ได้เหมือนโรคระบาด ถ้าคุณมีเพื่อนที่รู้สึกโดดเดี่ยว คุณก็จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกด้านลบจากความเหงาและโดดเดี่ยวนั้นเหมือนกัน ซึ่งวารสาร Personality and Social Psychology บอกว่ามีความเป็นไปได้ว่าเราจะติด “โรคเหงา” จากเพื่อนถึง 52% เลยล่ะ

8) น้ำหนักขึ้น – เป็นที่รู้กันดีว่า คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักจะน้ำหนักขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกของคนเดียวดายที่จะเจอกับตัวเลขบนตราชั่งที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะมันทำให้เรากินมากกว่าปกติซึ่งเป็นการเติมเต็มความรู้สึกแบบหนึ่ง ทั้งที่ความจริง สิ่งที่เราต้องการเมื่อรู้สึกเหงาคือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ความใกล้ชิด มิตรภาพ และคนที่พร้อมจะแชร์เรื่องราวต่างๆ ด้วยกัน

9) รู้สึกเหมือนเป็นหวัด – ความเหงาทำให้ระดับภูมิคุ้มกันลดต่ำลงจนร่างกายอ่อนไหวกับเชื้อโรคและเกิดความผิดปกติต่างๆ ง่ายขึ้น จนท้ายที่สุดจะกลายเป็นวงจรอุบาทก์ เพราะความป่วยจะแยกคุณออกจากผู้คนมากกว่าเดิมอีก นอกจากนี้งานวิจัยของ UCLA ยังพบว่าภูมิคุ้มกันของคนเหงาจะโฟกัสกับเชื้อแบคทีเรียมากกว่า ผลคือติดเชื้อไวรัสต่างๆ ได้ง่ายกว่าปกติ

นอกจากสัญญาณความผิดปกติต่างๆ ที่ว่ามา ยังมีการยืนยันว่า “ความเหงา” ร้ายกว่าโรคอ้วนและการติดบุหรี่ เพราะทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคข้ออักเสบ ภาวะสมองเสื่อม เบาหวานประเภท2 มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้และความจำ 

ถ้ารู้ตัวว่าอาจตายเพราะความเหงา ก็ออกไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ ทำกิจกรรมใหม่ๆ บ้างนะ อย่างน้อยก็เพื่อตัวคุณเอง



 
-->