8 สิ่งที่ผู้หญิงต้องรับมือ ช่วงมีประจำเดือน
การมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงจะต้องรับมือในทุกๆ เดือน จะดีกว่ามั้ยถ้าเรารู้วิธีรับมือกับสถานการณ์ที่มักเกิดขึ้นในช่วงมีประจำเดือนอย่างมืออาชีพ
เราต้องรู้ก่อนว่าประจำเดือนคือเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาในทุกๆ เดือน เกิดจากการที่ผู้หญิงมีการตกไข่ เมื่อตกไข่แล้วไม่มีการปฏิสนธิ ไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก โพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมากลายเป็นเลือดประจำเดือนนั่นเอง ซึ่งนอกจากเลือดประจำเดือนแล้วที่ผู้หญิงจะต้องเจอทุกเดือนแล้ว ยังมีความพีคอีกหลายอย่างให้ผู้หญิงอย่างเราต้องรับมือ
1. ดีลกับต่อมรับรสที่เปลี่ยนไป
จากรีเสิร์ชของ Journal of Nutrition & Food Sciences พบว่าผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือนจะมีความไวต่อการ “รับรสเปรี้ยว” ที่ลดลง เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในการรับรสเปรี้ยวมีปริมาณลดลง ทำให้ผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนอาจเผลอทานรสเปรี้ยวมากกว่าเดิมแบบไม่รู้ตัว ซึ่งการทานเปรี้ยวมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียได้ เช่น อาการท้องร่วง เสียวฟันง่ายเนื่องจากผิวเคลือบฟันถูกกัดกร่อน และมีโอกาสกระดูกผุได้เช่นกัน ฉะนั้นสาวๆ ควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารในช่วงนี้เป็นพิเศษ
2. ตัวบวมน้ำ ควรงดเค็ม
อาการตัวบวมน้ำเป็นอาการที่สามารถมีได้ตั้งแต่ก่อนมีประจำเดือนไปจนถึงช่วงระหว่างมีประจำเดือน เนื่องจากในช่วงที่มีการตกไข่ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ในร่างกายจะสูงขึ้น และระดับฮอร์โมนโพรเจนเตอโรน (progesterone) ต่ำลง ทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำเอาไว้ในชั้นเนื้อเยื่อ และมีอาการบวมน้ำตามส่วนต่างๆ แต่เมื่อเริ่มมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนจะกลับมาสมดุลอีกครั้ง ภาวะบวมน้ำจะหายไปและร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ตัวบวมคือการทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งยิ่งทำให้ต่อมหมวกไตด้านหลังทำงานหนักและกักเก็บน้ำไว้ในร่างกายเพิ่มขึ้น ฉะนั้นอาหารที่เค็มจัดอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ ควรหลีกเลี่ยงไปก่อนในช่วงนี้ สาวๆ คนไหนติดเค็ม นี่คือ10 วิธีลดเค็ม ทำตามได้ง่ายๆ แถมห่างไกลโรคไตด้วย
3. หิวบ่อย นั่นก็อยาก...นี่ก็อยาก!
งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ใน International Journal of Eating Disorders บอกว่าพอผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน ระดับเอสโตรเจนจะลดต่ำลงและโพรเจนเตอโรนจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีความอยากอาหารมากกว่าปกติ นอกจากนี้ในช่วงก่อนมีประจำเดือน 1 อาทิตย์ ระบบเผาผลาญในร่างกายจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 250-350 กิโลแคลอรี่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเสียเลือด และระหว่างช่วงที่มีประจำเดือน สาวๆ ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก (Iron) และเกลือแร่ (Minerals) เช่น ตับ เลือด เนื้อสัตว์ ผักสีเขียวเข้ม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง อาการเหนื่อยและอ่อนเพลียง่ายจากการเสียเลือดมาก
4. อารมณ์แปรปรวนยิ่งกว่าอากาศ
สามนาที สี่อารมณ์ บางทีก็นอยด์แบบไม่มีเหตุผล สาเหตุของอารมณ์แปรปรวนแบบนี้ เกิดจากสารเซโรโทนิน (serotonin) ในร่างกายที่ลดลง ซึ่งเป็นสารรับส่งกระแสประสาทและมีความสัมพันธ์กับสภาวะทางอารมณ์ เกิดขึ้นได้ในกลุ่มอาการ 2 รูปแบบ คืออาการก่อนมีประจำเดือน Premenstrual Syndrome (PMS) และ กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) ซึ่งกลุ่มอาการทั้ง 2 จะมีการแสดงออกทางด้านอารมณ์ สำหรับ PMS ผู้หญิงจะมีอารมณ์หงุดหงิดรำคาญ วิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า ช่วง 7-10 วันก่อนมีประจำเดือน และจะหายไปเองเมื่อประจำเดือนมาได้ 2-3 วัน ซึ่งอาการ PMS พบได้ใน 75% ของผู้หญิงทั้งหมด แต่สำหรับ PMDD จะคล้ายกับ PMS แต่ระดับความรุนแรงมากกว่า เช่นซึมเศร้าอย่างมาก อยากฆ่าตัวตาย โมโหร้าย ร้องไห้บ่อย พบได้ในผู้หญิง 3-8% ซึ่งสำหรับเคสแบบนี้ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์จะดีที่สุด
5. อาการปวดหัว ก่อนมีประจำเดือน
นอกจาก PMS และ PMDD จะส่งผลด้านอารมณ์แล้ว ยังส่งผลด้านร่างกายด้วย ซึ่งอาการปวดหัวถือเป็นหนึ่งในอาการที่หลายๆ คนมักจะมี โดยจะมีอาการปวดหัวตั้งแต่วันแรก ไปจนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน สาเหตุก็เพราะ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะลดลงอย่างรวดเร็ว เส้นเลือดที่อยู่บริเวณรอบนอกสมองซึ่งควบคุมด้วยระบบฮอร์โมนจะมีการขยายตัว ทำให้มีอาการปวดศีรษะได้ โดยเฉพาะคนที่มีความไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือคนที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนอยู่แล้ว ก็มีโอกาสเป็นได้ง่ายกว่า ควรพักผ่อนหรือทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลเพื่อลดอาการ แต่หากปวดหัวหนักจนยาเอาไม่อยู่ ควรปรึกษาแพทย์
6. อาการปวดประจำเดือน…ออกกำลังกายช่วยได้!
หลายคนมักเข้าใจว่าช่วงที่มีประจำเดือน สาวๆ ไม่ควรออกกำลังกาย เราจึงมาถาม พญ.ถนอมศิริ สติฐิต สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 2 ซึ่งคุณหมอเฉลยว่า ความจริงแล้วไม่มีข้อห้ามในช่วงที่มีประจำเดือน เราสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เพียงแต่ช่วงมีประจำเดือน จะมีการสูญเสียเกลือแร่บางตัวออกไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการขาดน้ำและเกลือแร่ ควรดื่มน้ำและทานอาหารที่มีประโยชน์ สำหรับสาวๆ ที่ยังอยากฟิตในช่วงนี้ อาจเลือกการออกกำลังกายเบาๆ อัตราการเต้นของหัวใจไม่เกิน 152 ครั้ง/นาที (bpm.) หรือการออกกำลังกายในระดับ Moderate อย่างเช่นโยคะ วิ่งจ๊อกกิ้ง เดิน ปั่นจักรยานเบาๆ หรือเต้นแอโรบิก ซึ่งการออกกำลังกายช่วยเรื่องอาการปวดประจำเดือนได้ด้วย เนื่องจากร่างกายจะมีการหลั่งสารเอนโดรฟิน ซึ่งเอนโดรฟินนอกจากจะเป็นสารที่ให้ความสุขแล้ว ยังถือเป็นยาแก้ปวดจากธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นมา
ใครที่มีปัญหาปวดท้องประจำเดือน ตามไปอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่เลย คุณหมอช่วยเคลียร์! ปวดท้องทุกทีที่มีประจำเดือน อาการแบบนี้ผิดปกติหรือเปล่า?
7. เซ็กซ์แบบฝ่าไฟแดง
จากรีเสิร์ชที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Biological & Medical Research พบว่าในช่วงมีประจำเดือน เซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้หญิงจะต่ำลง ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง เช่นภูมิต้านทาต่อแบคทีเรีย รา และไวรัส ซึ่งมีความสอดคล้องกับรายงานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่าการ “ฝ่าไฟแดง” มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้นอย่างชัดเจนประมาณ 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงที่ผู้หญิงไม่มีประจำเดือน ซึ่งที่เสี่ยงก็มีตั้งแต่ โรคหนองใน, เชื้อราในช่องคลอด, เชื้อก่อโรคเอดส์ (HIV), เชื้อก่อโรคหูดหงอนไก่กับมะเร็งปากมดลูก(HPV) และเชื้อก่อโรคเริม ฉะนั้นหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือน ควรใช้ถุงยางเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
8. ควรรู้ก่อนใช้ ‘ผ้าอนามัยแบบสอด’
หลายคนอาจกลัวการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะไม่รู้ว่าจะใส่ยังไง ใส่แล้วเจ็บหรือเปล่า อาจจะรู้สึกไม่คุ้นเคยกับการลองใช้ในครั้งแรก แต่ขอบอกเลยว่าหากใส่ด้วยวิธีที่ถูกต้อง สาวๆ จะไม่รู้สึกเลยว่ากำลังใส่อยู่ ผ้าอนามัยแบบสอดถือเป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับผู้หญิงที่ต้องการความคล่องตัว ทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาต่างๆ รวมไปถึงกีฬาว่ายน้ำด้วย แต่ก็หากใช้เกินเวลาที่กำหนด อาจทำให้เกิดอาการ Toxic Shock Syndrome (TSS) เกิดจากแบคทีเรียสะสมและทำให้เกิดภาวะติดเชื้อได้ ฉะนั้นควรเปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดทุกๆ 4-6 ชั่วโมง และที่สำคัญไม่ควรใช้ตลอดทั้งคืน
เท่านี้เราก็สามารถเตรียมตัวรับมือกับช่วงนั้นของเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ที่สำคัญสาวๆ ควรเข้ารับการตรวจภายในทุกปีเพื่อหาความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ขึ้นไป เพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้