7 กฎเหล็ก ชีวิต Happy&Strong... แบบ Michelle Obama

เป็นเรื่องธรรมดาของบรรดาผู้นำสหรัฐอเมริกาที่จะเขียนหนังสือบอกเล่าเส้นทางชีวิตและถ่ายทอดความคิดออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้ และบุคคลที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สุภาพสตรีหมายเลข 1 ผู้ซึ่งมีอิทธิพลและส่วนสำคัญของผู้นำแห่งทำเนียบขาว

คนหนึ่งที่ Popular ไม่แพ้ประธานาธิบดีคือ “มิเชล โอบามา” ภรรยาของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา ที่เขียนหนังสือ Becoming ออกมา บอกเล่าชีวิต ความคิด และตัวตนของเธอ และชั่วเวลาของการวางแผงเพียง 2 สัปดาห์ หนังสือเล่มนี้ก็ขึ้นแท่นหนังสือขายดีแบบเทน้ำเทท่า หรือมากกว่า 2 ล้านเล่มแล้ว 

เนื้อหาเปิดเผยเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยเด็กซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่ชิคาโก สู่การเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 มีทั้งความทรงจำแสนสุขและโศกเศร้า ความกลัวและความคลางแคลงใจ เคราะห์กรรมที่เธอต้องพบเจอ รวมถึงการตัดสินใจที่ช่วยให้เธอคงความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จเหนือฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในเว๊บไซต์ Bright Side ได้หยิบยกประเด็นที่ทำให้เธอเป็นหญิง Happy และสุด Strong ซึ่งสาวบ้านๆ อย่างเราสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่มพลัง ขับเคลื่อนให้ชีวิตดีขึ้นได้


• เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเรียนรู้
“หนทางเดียวที่คุณจะประสบความสำเร็จและหนทางเดียวที่คุณจะได้เรียนรู้คือ คุณต้อง 'ล้มเหลว' มาก่อน... ความล้มเหลวเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย แต่สิ่งที่คุณลงมือทำหลังจากล้มเหลวต่างหากล่ะที่สำคัญ คุณจะล้มเลิกมั้ย? คุณจะยอมแพ้? หรือจะเปลี่ยนมันเป็นพลังนำคุณไปสู่เป้าหมาย?” มิเชล กล่าวไว้เมื่อครั้งขึ้นเวทีปาฐกถาเรื่องสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้หญิงเมื่อปี 2016 โดยเธอสนับสนุนให้เพื่อนนักเรียนหญิงสนับสนุนกันและกัน และไม่ต้องกลัวที่จะล้มเหลว
ในหนังสือเล่มนี้ มิเชล ได้เน้นย้ำว่าการสู้กับความกลัวและความล้มเหลวเป็นสิ่งสำคัญ เราควรลงมือทำทันทีที่รู้ตัวว่ามันเกิดขึ้น

• มองเห็นข้อดีของความท้าทายใหม่ๆ เสมอ
สำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญ จะรู้ว่ามิเชลเป็นคนหนึ่งที่รู้วิธีการเอาชนะและก้าวข้ามอุปสรรค ในหนังสือเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “ฉันเป็นนักเรียนผิวดำชนชั้นแรงงานเพียงคนเดียวในวิทยาลัย เป็นแอฟริกันอเมริกันเพียงคนเดียว” โดยอาจารย์แนะแนวที่ ม.พรินซ์ตัน บอกกับเธอว่า “ผมไม่แน่ใจว่าคุณเป็นนักศึกษาของที่นี่หรือเปล่า” โดยไม่ถามคำถามกับมิเชลสักคำ และไม่พยายามค้นหาว่าเธอเป็นใคร
แต่ปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นไม่ได้ทำลายผู้หญิงที่เข้มแข็งคนนี้ “คุณอย่ามองความท้าทายที่เข้ามาในชีวิตว่าเป็นเรื่องแย่ เพราะการเข้าใจสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่เป็นสิ่งสำคัญและมันจะกลายเป็นข้อได้เปรียบของคุณ ที่ฉันสามารถพูดแบบนี้ได้เพราะได้เจอมากับตัวแล้ว" 

• รู้คุณค่าของตัวเองและไม่รู้สึกผิดกับการเป็นตัวเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมเรายังเต็มไปด้วยการตัดสิน ตัดสินกันด้วยสถานะทางการเงิน สถานะทางสังคม สีผิว รวมถึงรูปร่างหน้าตา ซึ่งมันน่าเศร้าจริงๆ นะ ขณะที่มิเชลซึ่งเติบโตมาในยุคที่สหรัฐอเมริกายังมีการเหยียดสีผิว บอกว่าถ้าเธอเจอกับสถานการณ์หรือคนแย่ๆ ก็มักพูดกับตัวเองว่า “นั่นไม่ใช่ตัวฉัน แต่สิ่งที่เขาเขียนหรือพูดออกมามันคือตัวตนของคนพวกนั้นต่างหาก” 
“ตั้งแต่กลายเป็นบุคคลสาธารณะ ในโลกอินเทอร์เน็ตตั้งคำถามทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตของฉัน สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐล้อเลียนรูปร่างของฉัน มันเจ็บปวดนะ แต่ส่วนใหญ่แล้วฉันพยายามหัวเราะกับเรื่องพวกนี้”


• เรียนรู้ที่จะจัดลำดับและให้ความสำคัญตัวเอง
การเป็นลูกสาว พี่สาว ภรรยา หรือแม้แต่การเป็นแม่ ผู้หญิงมักให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นลำดับท้ายๆ  มิเชลสารภาพว่า ช่วงแรกของชีวิตการแต่งงานนั้น เธอจัดตารางเวลาชีวิตโดยอิงกับสามี และไม่ค่อยสนใจความสุขของตัวเองนัก “ฉันยุ่งมาก ต้องจัดตารางเวลาออกกำลังกายของตัวเองโดยอิงกับตารางงานของบารัค ตัวอย่างน่ะนะ เพื่อให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ ฉันใช้เวลาและพลังงานมากมายไปกับเรื่องว่าเขาจะกินข้าวเย็นที่บ้านหรือเปล่า ซึ่งมันไม่สนุกเลย”
กระทั่งตระหนักได้ว่าความสุขของเธออยู่ในกำมือเธอ มิเชลก็ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต “กิจวัตรประจำวันที่ตายตัว คือการให้น้ำหนักไปกับหน้าที่ความรับผิดชอบของบารัค ไม่ว่ามันจะต้องใช้เวลาแค่ไหน สำหรับฉันแล้ว เรื่องนี้มีเหตุผลมากกว่าการจัดโต๊ะดินเนอร์มื้อค่ำ หรือคุณต้องส่งลูกสาวเข้านอนทุกคืน... มันกลับมาที่ความต้องการของฉันที่อยากให้พวกแกโตขึ้นมาเป็นคนแข็งแกร่งและมีเป้าหมายชัดเจน รวมถึงมองข้ามรูปแบบของครอบครัวแบบเดิมๆ ฉันไม่อยากให้พวกแกเชื่อว่าชีวิตจะเริ่มต้นเมื่อคุณพ่อกลับถึงบ้าน”

• ตั้งเป้าหมายใหม่ๆ และนับว่าทำได้แค่ไหน
ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงเป้าหมายที่เธอตั้งไว้ในแต่ละช่วงชีวิต ตั้งแต่ช่วงที่เธอยังเป็นนักเรียนไปจนถึงเป้าหมายที่เธอและบารัคตั้งร่วมกันในช่วงที่ใกล้ครบวาระการเป็นประธานาธิบดี ซึ่งมิเชลบอกว่า มีคำถามหนึ่งที่เธอไม่เคยหยุดถามตัวเอง คือ "ฉันดีพอแล้วหรือยัง?"
“ตั้งแต่เด็ก ฉันจะพุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จอย่างแน่วแน่ ตรวจเช็คทุกองค์ประกอบ ฉันจำ to-do ลิสต์ของตัวเองได้แม่น มันจึงอยู่กับฉันตลอดเวลาไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ไหน ฉันจะประเมินเป้าหมาย วิเคราะห์ผลลัพท์ที่ออกมา แล้วเช็คว่าบรรลุไปกี่เป้าหมายแล้ว และถ้ามีความท้าทายเข้ามา ฉันก็จะผ่านมันไปให้ได้”

• วางแผนแล้วต้องลงมือทำจริงด้วย
การวางแผนคือสิ่งสำคัญ นั่นคือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากครอบครัว “ฉันเติบโตมาในชุมชนชั้นแรงงานและถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนล่วงหน้า นั่นคือสิ่งที่ฉันได้เห็นทุกวัน ได้เรียนรู้ว่าการวางแผนและเฝ้าระวังเป็นสิ่งสำคัญมาก” 

• มีความสุขและสนุกกับชีวิตแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
เมื่อชีวิตต้องเจอกับอุปสรรค ความสนุกสนานและเสียงหัวเราะเป็นพลังให้เธอก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ได้ เช่นในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง เธอก็มีวิธีทำให้ชาวอเมริกันมีความยิ้มได้แม้ทีมเจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารของบารัคจะมองว่าเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย โดยเธอจัดปาร์ตี้ฮัลโลวีนที่ทำเนียบขาวให้กับเด็กในท้องถิ่นและครอบครัวของทหารที่ทำเนียบขาว 
“จากประสบการณ์ทำให้ฉันรู้ว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากจะฝ่าฟันไปได้ การได้ยิ้มและหัวเราะไม่ใช่เรื่องแย่ และโดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ แล้ว พวกคุณต้องหาทางให้พวกเขาได้สนุกบ้าง”

จะเห็นว่าเคล็ดลับเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก บางข้อเราก็รู้อยู่แก่ใจว่าถ้าทำได้ชีวิตจะดีขึ้น หรือใครอยากแชร์แนวคิดหรือหลักการใช้ชีวิตแบบสตรองและมีความสุข ก็เล่าสู่กันฟังได้นะ





 
-->