5 เทคนิคป้องกัน “ออฟฟิศซินโดรม” โรคฮิตของคนวัยทำงาน
เดี๋ยวก็ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดต้นคอ อาการแบบนี้ใช่ออฟฟิศซินโดรมหรือเปล่า? ถ้าคุณเป็นคนที่นั่งทำงานเป็นเวลานานๆ แล้วชอบมีอาการปวดเมื่อยอยู่บ่อยๆ ให้ระวังโรคออฟฟิศซินโดรมจะถามหา เพราะถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้อาการรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้!โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คืออาการที่เกิดจากการทำงานในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการเสียสมดุลของกล้ามเนื้อ กระดูกข้อต่อ เอ็น และเส้นประสาท และยังส่งผลเสียถึงระบบต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการไหลเวียนเลือด การย่อยอาหาร รวมไปถึงการมองเห็น การนอนหลับยาก ซึ่งเป็นอาการที่เจอได้บ่อยในกลุ่มมนุษย์ออฟฟิศ ที่นั่งทำงานอยู่หน้าคอมฯในท่านั่งที่ไม่เหมาะสม ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการ ปวดหลัง ไหล่ คอ ปวดหัว ปวดตา หรืออาการชาที่มือ ที่แขน ได้
ไม่อยากเป็นออฟฟิศซินโดรม...ป้องกันได้!
ในเมื่อการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องมีเทคนิคป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมที่สามารถทำตามได้ง่ายๆ 5 วิธี ตามนี้เลย!
1. ปรับสภาพแวดล้อมให้ดี
ก่อนอื่นเราควรปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้อยู่ในระดับที่เรานั่งทำงานแล้วรู้สึกลงตัว รวมถึงปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา ห่างออกไปประมาณ 2 ฟุต ให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 15 องศา และปรับแสงหน้าจอไม่ให้สว่างจนเกินไป แต่ก็อย่าให้มืดจนต้องเพ่งล่ะ
2. พักสายตาบ้าง
ไม่ว่างานจะด่วนจะรีบแค่ไหน ก็ต้องรู้จักหยุดพักจากการจ้องหน้าจอบ้าง เอาเป็นว่าทุกๆ 15 นาที ที่เราจ้องจอ ให้มองไปที่อื่นไกลๆ ที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์บ้าง ถ้าเริ่มรู้สึกตาพร่า ลองหลับตานับ 1-10 เพื่อเป็นการพักสายตาให้กลับมาสดใสอีกครั้ง หรือการกระพริบตาบ่อยๆ หรือใช้น้ำตาเทียม ก็สามารถช่วยอาการตาแห้งจากการจ้องคอมนานๆ ได้เหมือนกัน
3.ตำแหน่งข้อศอกก็สำคัญ
เวลาใช้แป้นพิมพ์งาน หรือเมาส์ ข้อศอกควรอยู่ในระดับเดียวกันกับคีย์บอร์ด และควรมีที่พักข้อศอกด้วย
เพื่อไม่ให้บ่าเราต้องเกร็งตลอดเวลา และอย่าลืมจัดท่านั่งให้เหมาะสม ไม่นั่งหลังค่อมหรือนั่งห่อไหล่
4. ลุกเปลี่ยนท่านั่งทุกๆ 20 นาที
เราควรปรับเปลี่ยนท่านั่งทุกๆ 20 นาที เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อบางส่วนทำงานหนักจนเกินไป นอกจากนี้เราควรลุกขึ้นมายืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกๆ 1 ชั่วโมง ทั้งการยืดเหยียดแขน ยืดกล้ามเนื้อคอ ยืดบิดเอวช้าๆ บริหารหัวไหล่และข้อมือ ก็จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาได้
5. ออกกำลังกาย สร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
การออกกำลังกายนอกจากจะเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ยังช่วยสร้างบาลานซ์ให้ร่างกายกลับมาอยู่ในแนวธรรมชาติที่ควรจะเป็น เช่นกล้ามเนื้อ อก บ่า ไหล่ และกล้ามเนื้อสะโพก ซึ่งคนวัยทำงานมักมีปัญหาปวดเมื่อยบ่อยๆ โดยการออกกำลังกายนั้นต้องอาศัยความใส่ใจและทำอย่างสม่ำเสมอ
แค่นี้เราก็สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องทรมานกับอาการออฟฟิศซินโดรมอีกต่อไป แต่ถ้าใครเริ่มมีอาการหรือสงสัยว่าตัวเองเป็นออฟฟิศซินโดรมหรือเปล่า เราแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาหรือแก้ไขอาการปวดตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้เป็นโรคเรื้อรังจนรักษายากจะดีที่สุด