40+ ตั้งท้อง...ต้องระวัง!

หลังจากพยายามมาเป็นปีๆ ด้วยวิธีทั้งสายวิทย์ สายมู แต่การตั้งท้องก็ยังไม่เป็นผล พอบทจะทำใจได้ก็กลายเป็นว่าอยู่ๆ ก็เกิดจะได้กลายเป็นคุณแม่ขึ้นมา ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าไม่พร้อมหรืออะไร แต่ติดที่ว่าอายุจะเลยวัยไปแล้วหรือเปล่านะ เพราะการศึกษาล่าสุดของ London School ได้วิเคราะห์ออกมาว่าช่วงวัยที่มีลูกกำลังดีคือ ผู้หญิงที่อายุ 30 – 39 ปี ซึ่งแนวโน้มว่าลูกจะฉลาดกว่าผู้หญิงที่มีลูกตอนอายุ 20 ปี แต่นี่พอมาลองนับนิ้วดูอายุตัวเองที่เลยหลัก 4 ไปแล้วก็เลยชักจะกลุ้มใจว่าจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า



รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง...
เมื่อเข้าสู่เลข 4 การตั้งท้องอาจไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีสักเท่าไหร่ เพราะผิดเวลาไปหน่อย ด้วยว่ามีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับทั้งคุณแม่และคุณลูก
  • ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับคุณแม่ การตั้งท้องตอนอายุมากจะทำให้คุณแม่มีโอกาสเป็นโรคต่างๆ ขณะตั้งครรภ์ได้ ทั้งโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน โดยพบว่าคนท้องที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนอายุ 20 ปีที่ตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายตามมา เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ 
  • ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับลูกน้อย เมื่อคุณแม่อายุมากขึ้นการฝังตัวของรกเสื่อมสภาพลง อาจทำให้เด็กตัวเล็กกว่าปกติ มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด รวมถึงลูกน้อยในครรภ์ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดดาวน์ซินโดรมได้ เนื่องจากภาวะดาวน์ซินโดรมนี้จะมีความสัมพันธ์กับอายุของคุณแม่ ดังนั้นยิ่งคุณแม่มีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ลูกจะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าดูจากสถิติจะพบว่าในผู้หญิงอายุ 25 ปี จะพบการคลอดเด็กดาวน์ซินโดรม 1 ราย จากการคลอดปกติจำนวน 1,250 ราย แต่เมื่ออายุ 40 ปี จะพบเด็กดาวน์ซินโดรม 1 ราย จากการคลอดจำนวน 106 ราย

ตั้งครรภ์ปลอดภัยในวัย 40+
ขึ้นชื่อว่าตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเกิดใช่ช่วงวัยไหนยังไงก็มีความเสี่ยง เพราะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ทั้งนั้น แค่ว่าความเสี่ยงอาจจะเพิ่มขึ้นตามอายุของคุณแม่ ยิ่งถ้ามีโรคเรื้อรังไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ ก็จะยิ่งอัพเลเวลความเสี่ยงมากขึ้นไปอีกเท่าตัว เพราะฉะนั้นถ้ารู้ตัวว่ากำลังจะเป็นคุณแม่เมื่อไหร่ให้รีบดูแลตัวเองก่อนเลย ส่วนคุณแม่วัย 40+ ก็อาจจะเพิ่มออพชั่นเสริมโดยควรปรึกษาสูตินารีแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยง การป้องกัน และการดูแลครรภ์ที่เหมาะสม รวมถึงอาจจะเพิ่มการดูแลในเรื่องต่างๆ ดังนี้เป็นพิเศษ
  • ตรวจวัดความดันโลหิต เพื่อเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อเฝ้าระวังโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ตรวจหาความผิดปกติของทารก เช่น ดาวน์ซินโดรม การพัฒนาของร่างกายที่ไม่สมบูรณ์
  • ตรวจหาความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด
  • ตรวจการตั้งครรภ์นอกมดลูก

ถึงจะเสี่ยง...อยู่บ้าง แต่ถ้ารู้จักดูแลตัวเอง ปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด การเป็นคุณแม่ตอนหลัก 4 ก็ไม่น่าจะมีปัญหาสักเท่าไหร่
-->