3 เทคนิค! ทำยังไงให้รอดในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

เข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว มีใครตื่นเต้นกับอากาศหนาวกันบ้างมั้ย อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาก็ออกมาประกาศเข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา แต่ปีนี้อาจจะหนาวน้อยกว่าปีที่แล้ว ทีนี้เราก็มาลุ้นกันว่าทุกคนจะโอกาสได้สัมผัสอากาศหนาวในปีนี้ได้นานแค่ไหนกัน!



#เมื่อเข้าหน้าหนาว…นี่คือสิ่งที่เราต้องตระหนัก
ประเทศไทยของเรามีสภาพอากาศร้อนชื้น และใน 3 ฤดูตลอด 1 ปี ก็ร้อนไปแล้วกว่า 80% และยิ่งสภาพอากาศในช่วงนี้ อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนไปสู่ฤดูหนาว และเราก็ยังคงเห็นพายุโหมกระหน่ำ ฝนตกหลังเลิกงานกันอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านๆ มา ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเราปรับอุณหภูมิไม่ทันและอาจมีอาการป่วยได้ 

อีกหนึ่งสิ่งที่เราอยากให้ทุกคนได้ระมัดระวังตัวเองในช่วงหน้าหนาวนี้คือ ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่ฝุ่นพิษจะระบาดหนัก นอกจากเราจะต้องดูแลตัวเองด้วยการเช็กค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์แล้ว ต้องไม่ลืมสวมหน้ากากอนามัยสำหรับป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ N95 เราอยากให้ผู้คนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางได้ดูแลตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือบางคนอาจมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจยิ่งต้องระวังมากเป็นพิเศษ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคปอดอักเสบ วัณโรค เป็นต้น โดยในช่วงนี้ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้งและงดออกนอกจากบ้านโดยไม่จำเป็น เน้นการทำกิจกรรมในสถานที่ปิด เช่น ออกกำลังกายภายในบ้านหรือห้องพัก งดออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง และที่สำคัญคือไม่เป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น การเผาขยะ เผาใบไม้ หรือถ้าใครเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะก็สามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศได้เช่นกัน

#3 เทคนิคทำยังไงให้รอดเมื่อเจออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
แม้ว่าอากาศหนาวในปีนี้จะสั้นและอาจจะไม่หนาวมากจนเราต้องใส่เสื้อกันหนาว แต่อากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้เองอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราป่วยได้ ดังนั้น Health Addict ขอแนะนำ 3 เทคนิคที่จะทำให้เรารอดพ้นในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงเช่นนี้

1. เช็กสภาพอากาศ และปริมาณฝุ่น PM 2.5
แทบจะเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของทุกคนไปแล้ว ตั้งแต่ที่ฝุ่น PM 2.5 ระบาดหนักๆ ทำให้หลายๆ คนหันมาดูแลตัวเองมากขึ้นและพยายามหาตัวช่วยที่จะทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากเราจะออกไปทำธุระนอกบ้าน สิ่งแรกคือ การเช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ในสถานที่ต่างๆ ที่เราจะเดินทางไป ซึ่งเราเองก็สามารถเช็กได้แบบละเอียดๆ และเช็กได้แบบเรียลไทม์ด้วย เรียกว่าถ้ารู้ว่าเสี่ยงเราจะได้ไม่เข้าไปในพื้นที่นั้นๆ ก็เป็นหนึ่งในการป้องกันในรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ต้องอย่าลืมเช็กสภาพอากาศในวันนั้นๆ ด้วย เช่น พายุลมกระโชกแรง แม้ว่าเราจะอยู่ในฤดูหนาวก็มีโอกาสที่จะมีฝนตกในบางพื้นที่ได้เช่นกัน

2. ไอเทมลับ เตรียมให้พร้อมก่อนออกจากบ้าน
หลายคนเคยชินกับไอเทมเหล่านี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันมลพิษในอากาศอย่าง หน้ากากอนามัย N95 ที่ช่วยกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ช่วยทำความสะอาดเมื่อเราหยิบจับสิ่งของในที่สาธารณะ หรือใครสะดวกจะพกทิชชูแห้งและทิชชูเปียกด้วยก็จะดีมาก นอกจากสิ่งของที่จำเป็นแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเปราะบาง ที่มีความเสี่ยงสูง ควรพกยาประจำตัว ติดตัวไว้ตลอดเวลา หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ใช้ยาได้อย่างทันท่วงที

3. อย่าลืมที่จะดูแลตัวเอง
บางครั้งการฮีลที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเองด้วยสารพัดวิธีที่ง่ายแสนง่าย และเราก็เชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและนอนให้เป็นเวลาเพื่อสุขภาพการนอนที่ดีในระยะยาว เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย งดของทอด ของมัน และอาหารปรุงแต่ง เลียนแบบกลิ่นและสี หรือเลือกกินวิตามินเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของเรา และสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าลืมที่จะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย อย่าลืมว่ายิ่งร่างกายเราแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค พายุถล่ม ฟ้าฝนทลายเราก็จะรอดจากการป่วยได้อย่างแน่นอน

สภาพอากาศในช่วงนี้อาจจะแปรปรวนจนทำให้เราต้องหันกลับมาใส่ใจสุขภาพของเราให้มากขึ้น และนอกจากตัวเราเองแล้ว อย่าลืมเทคแคร์คนข้างๆ เราด้วยนะ
-->