10 เมนูเฝ้าระวังช่วงซัมเมอร์! ถ้าไม่อยากเสี่ยงท้องพังกับอาหารเป็นพิษ

ช่วงหน้าร้อนกลับมาอีกครั้ง! ด้วยอุณหภูมิประเทศไทยที่สูงปรี๊ดดด หลายคนเริ่มป่วยด้วยโรคที่เกิดจากอาหารปนเปื้อนอย่าง “โรคอาหารเป็นพิษ” และอากาศที่ร้อนระอุทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย 

Photo by Jasmin Schreiber on Unsplash
 
แค่วางทิ้งไว้...ก็อันตรายแล้ว
นักโภชนาการชาวอเมริกันเตือนว่า เราไม่ควรทานอาหารที่ตั้งทิ้งไว้ในอุณภูมิห้องนานเกิน 2 ชั่วโมง และไม่ควรตั้งไว้นานเกิน 1 ชั่วโมง ในกรณีที่อากาศร้อนเกิน 32 องศาเซลเซียส เพราะแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ดีและแพร่กระจายในอาหารของเราได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง น่ากลัวสุดๆ โดยเฉพาะแบคทีเรียที่ผลิตสารพิษอันตรายทำให้เกิดอาเจียนและท้องเสียรุนแรง อย่างสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และแบคทีเรีย บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) ผลิตสารพิษอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย 

อาหารเป็นพิษ...แค่คิดก็ทรมาณ
อาการอาหารเป็นพิษจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังรับประทานอาหารเข้าไป ส่วนใหญ่จะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ และปวดท้องรุนแรงเฉียบพลัน อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัวเป็นไข้ร่วมด้วย เนื่องจากอาหารที่ทานเข้าไปไม่สะอาด ไม่ว่าจะปนเปื้อนแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ หรืออาจปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี หรือโลหะหนัก ก็สามารถก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน

เมนูเสี่ยง ต้องเช็คให้ดี 
ยิ่งอากาศในบ้านเราร้อนไฟแล่บขนาดนี้ กรมควบคุมโรคจึงประกาศรายชื่อเมนูอาหารที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อนไว้ 10 เมนูด้วยกัน จะมีเมนูโปรดของเราอยู่ในนั้นหรือเปล่า? ตามไปดูกันเลย

1. ลาบ ก้อยดิบ
อาหารประเภทกึ่งสุกกึ่งดิบมีความเสี่ยงทั้งเชื้อแบคทีเรียและพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์ อย่างเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส สาเหตุของอาการหูดับ ซึ่งเชื้อจะมีอยู่ในโพรงจมูกและต่อมน้ำลายของหมู ทางทีดีควรจะเลี่ยงซะดีกว่า

2. ยำหอยแครง ยำทะเล
อาหารทะเลสดที่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือปรุงสุกไม่ทั่วถึง มักจะพบการปนเปื้อนของเชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ซึ่งเป็นแบคทีเรียตระกูลเดียวกับเชื้ออหิวาต์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วมันจะแบ่งตัวในลำไส้และผลิตพิษออกมา ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษในที่สุด

3. ยำกุ้งเต้น
เมนูนี้อันตรายเพราะกุ้งเต้นที่เอามายำนั้นไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุกก่อน ซึ่งปกติในกุ้งน้ำจืดมักจะมีพยาธิอยู่เป็นจำนวนมาก และมีหลากหลายชนิดรวมถึงพยาธิใบไม้ด้วย แนะนำให้ทานเป็นกุ้งฝอยทอดจะดีกว่า

4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู
จากงานวิจัยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าในเนื้อปูต้มแกะแล้ว มีการปนเปื้อนเชื้อโรคอาหารเป็นพิษอยู่หลายชนิด แนะนำให้เลือกซื้อเนื้อปูต้มแกะที่บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท และแช่เย็นเพื่อรักษาอุณหภูมิอยู่ตลอดเวลา

5. อาหาร หรือ ขนมที่ราดด้วยกะทิ
เพราะกะทิเป็นแหล่งเจริญเติบโตชั้นดีของจุลินทรีย์ และยิ่งอากาศร้อนแบบนี้ทำให้กะทิบูดได้ง่าย มีงานวิจัยที่นำกะทิสดตามตลาดมาตรวจสอบ พบว่ามีแบคทีเรียโคลิฟอร์มอยู่ในทุกตัวอย่างและพบเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอย่างเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส อีกด้วย

6. ขนมจีน
มีความเสี่ยงทั้งน้ำยา ผักสด และเส้นขนมจีนที่ไม่สะอาด รวมถึงการจัดเก็บแป้งในที่ที่มีความชื้นสูงมีโอกาสทำให้เส้นขนมจีนเปรียวเร็ว วิธีการผลิตเส้นขนมจีนที่ใช้มือคนโรยและจับเส้น ถ้าคนจับเส้นไม่รักษาสุขลักษณะ และกระบวนการผลิตไม่สะอาดพอ อาจทำให้มีเชื้อราหรือเชื้อก่อโรคปนเปื้อนได้ 

7. ข้าวมันไก่
ปกติตามร้านข้าวมันไก่ เมื่อต้มไก่เสร็จแล้วเขาก็มักจะแขวนพักไว้ในตู้ ซึ่งหากทิ้งไว้นานในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ที่มักจะปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ปีก สามารถเจริญเติบโตได้ดีและสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษนั่นเอง

8. ส้มตำ
สาเหตุก็เพราะส้มตำเป็นอาหารที่ต้องสัมผัสกับมือคนโดยไม่ผ่านความร้อนก่อนรับประทานยังไงล่ะ และที่สำคัญหากปลาร้าที่นำมาใช้ปรุง ไม่ได้ผ่านกระบวนการที่ถูกสุขอนามัยล่ะก็ มันคือแหล่งรวมตัวของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคอาหาเป็นพิษดีๆ นี่เอง โดยเฉพาะ บาซิลลัส ซีเรียส ที่มักพบในปลาร้าที่ไม่ได้ต้มสุก 

9. สลัดผัก
มาถึงยุคที่ผักสลัดพร้อมทานบรรจุถุงบูมมากๆ เพราะได้ทั้งสุขภาพแถมยังสะดวกอีกด้วย แต่ข่าวร้ายก็คือมหาวิทยาลัยเลสเตอร์มีผลวิจัยออกมาว่า ผักสลัดที่ถูกล้าง หั่น และบรรจุใส่ถุงพร้อมทาน มักจะมีน้ำที่ซึมออกมาจากผักและขังอยู่ในถุง นำพามาซึ่งเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่า(Salmonella) ที่เติบโตได้ดีในน้ำที่ซึมออกมาจากผัก ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือเชื้อนี้ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการล้างผักซ้ำเสียด้วย ทางที่ดีเราควรซื้อผักสลัดมาล้างและหั่นทานสดๆ มื้อต่อมื้อจะดีกว่า 

10. น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
จากการสุ่มตรวจของสำนักอนามัยกรุงเทพ พบว่าในน้ำแข็งในท้องตลาดมักมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์อย่างเช่น โคลีฟอร์ม อีโคไล ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมาจากสิ่งปฏิกูล อาจปนเปื้อนมาจากคนงานที่อยู่ในขบวนการผลิตที่สัมผัสน้ำแข็งโดยตรงและการขนส่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ  

เพียงแค่เราเลือกทานให้เป็น หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารที่บูดเสียได้ง่าย อาหารที่ไม่สะอาด แค่นี้เราก็ปลอดภัยจากโรคอาหารเป็นพิษได้แล้ว


 
-->