“โรคซึมเศร้า” เป็นได้ ก็หายได้นะรู้ยัง

ถ้าคุณมีคนในครอบครัวที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้ามานานหรือแม้แต่ตัวคุณเองที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่จนบางครั้งแอบตั้งคำถามกับตัวเองว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ แต่ก่อนจะไปหาคำตอบ เราจะพามาทำความเข้าใจโรคนี้กันก่อน
 
โรคนี้...ไม่ได้เห็นได้ด้วยตาเปล่า


โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วสิ่งที่ทำให้เรารับรู้ได้ว่าคนๆ หนึ่งกำลังป่วยก็คืออาการต่างๆ ที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น อาการจาม ปวดหัว มีไข้ มีแผลฉีกขาด มีเลือดออก หรือแม้แต่ภาพเอ็กซเรย์ต่างๆ ที่บอกได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนตัวช่วยที่ทำให้รู้ถึงระดับความรุนแรงของการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ รวมถึงนำไปเป็นข้อมูลเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด แต่ประเด็นก็คือถ้าสัญญาณของ “โรคซึมเศร้า” ไม่ได้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าล่ะ
 
โรคนี้...เกี่ยวกับ “ความรู้สึก”
ส่วนใหญ่แล้วอาการของคนที่เป็นโรคนี้คือ ผู้ป่วยมักจะจมอยู่กับภาพเดิมๆ สิ่งเดิมๆ ที่ทำให้รู้สึกเหมือนโดนสะกดให้อยู่กับความทุกข์นั้นซ้ำๆ และยาวนาน ซึ่งสำหรับคนที่มองเข้ามามันอาจจะดูเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจถึงความหดหู่ลึกๆ ในใจของเขา ทำให้บางคนมองว่าโรคนี้ไม่มีอยู่จริงๆ
 
ศาสตราจารย์ Gregg Henriques จาก James Madison University เผยว่า โรคซึมเศร้าไม่ใช่ความเจ็บปวดทางกาย ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นความต้องการทางความรู้สึกที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาแบบตรงจุดสักที สาเหตุมาจากปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์เชิงลึกกับสถาบันครอบครัว, คู่รัก รวมไปถึงการทำงาน และการมีหน้ามีตาทางสังคม
 
และที่สำคัญ! โรคนี้หายขาดได้
มีการถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ว่าโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ที่ทำได้แค่ประคับประคองอาการเท่านั้น เหมือนกับโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน แต่ความจริงที่หลายคนไม่รู้ก็คือ โรคนี้สามารถหายขาดและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยอย่างจริงจัง เพราะนี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางจิตใจ ต้องทำให้ผู้ป่วยเรียนรู้ และเข้าใจปัญหาของตัวเอง รวมถึงผู้ให้คำปรึกษาก็ต้องหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างเหมาะสมเช่นกัน อย่างไรก็ตามการให้คำปรึกษาก็อาจจะไม่ได้ลดอาการซึมเศร้าได้โดยตรง แต่เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยได้ระบายปัญหาที่เป็นปมอยู่ในใจออกมา
 
แค่หาปัญหาให้เจอ...และแก้ไขให้ตรงจุด
การพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ก็เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างตรงจุด ซึ่งตัวผู้ป่วยจะต้องเล่าเรื่องราว ความรู้สึก และเปิดเผยเรื่องราวกับแพทย์ตามความเป็นจริง เนื่องจากแพทย์ต้องหาต้นเหตุ และทางแก้ไขเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ก่อความเครียดเหล่านั้นให้ได้เร็วที่สุด โดยระยะเวลาในการรักษานั้นสอดคล้องกับช่วงเวลาของอาการที่สะสมมาอย่างยาวนาน หากเข้าทำการรักษาช้า การหายขาดก็จะยืดเยื้อ ทำให้เข้าใจว่ามันยากเกินแก้ไขได้
 
ฉะนั้นครอบครัวถือเป็นหัวใจในการดูแลผู้ป่วย ถ้าเราช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ป่วยมองว่าโรคนี้ไม่ใช่สิ่งประหลาด แต่สามารถเยียวยาให้หายขาดได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยยอมรับการรักษา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์โดยไม่รู้สึกอึดอัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง
 
 
-->