‘โรคซึมเศร้า’ อาจจะเกิดกับใครก็ได้…แต่นี่คือวิธีที่เธอเลือกจะรับมือ!
โรคซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้า เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หลายคนมีเรื่องราวและสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกันและแน่นอนว่า ความรู้สึกและความคิดก็ย่อมแตกต่างกัน เรื่องทุกข์ใจที่ว่าเล็กน้อยของใครบางคน อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับอีกคนนึงก็ได้ ดังนั้นทุกๆ คนมีโอกาสจะเป็นโรคซึมเศร้าได้หมด และคงคล้ายๆ กับเรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ ‘อีม’ สิริวรรณ ชุ่มหัตถา# จุดเริ่มต้นของ ‘โรคซึมเศร้า’
ภาวะซึมเศร้านั้นอาจมีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งรอบๆ ตัวที่ได้พบเจอ หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่กระทบกระเทือนจิตใจ และสำหรับเธอคนนี้จุดเริ่มต้นมาจากเรื่องของความรัก “ครั้งนึงเราเคยมีความรักเหมือนกับคนอื่นๆ แต่จุดพีคคือช่วงที่เรามีแฟน เรามีปัญหากันหลายเรื่อง มีการไม่เข้าใจกัน จนนำไปสู่ความรุนแรง มีการทำร้ายข้าวของ ทำร้ายร่างกายและทะเลาะกันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ” และเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้ซ้ำๆ มันก็กลายเป็นการสร้างพลังลบให้กับตัวเอง “ตอนนั้นเรากลายเป็นคนคิดลบโดยไม่รู้ตัว”
แต่ก็ยังโชคดีที่เธอได้เจอกับพี่ที่รู้จักคนนึงที่กำลังเป็นโรคซึมเศร้าอยู่พอดี เขาจึงแนะนำให้เธอลองไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดีดู “ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็ตัดสินใจไปหาหมอเลย ซึ่งปรากฎว่าพอคุยไปคุยมาหมอบอกว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ” แม้ว่าก่อนหน้านั้นเธอจะไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาถึงขั้นนี้ แต่เธอก็ยอมรับกับเราว่าเคยมีความรู้สึกแว๊บนึงเข้ามาว่า ‘อยากฆ่าตัวตาย’ “รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ถ้าเราไม่อยู่จะดีกว่านี้มั้ย คือตอนนั้นในหัวเราคิดแต่เรื่องไม่ดีทั้งนั้นเลย”
# ช่วงแรกของการรักษา…กับสภาพจิตใจที่ดูเหมือนจะดีขึ้น
ในช่วงแรกของการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเธอเล่าว่าเป็นลักษณะการรักษาแบบตามอาการ “คุณหมอให้ยามาทาน พอทานไปสักระยะนึงก็ดีขึ้น ซึ่งพอดีขึ้นเราก็ไม่ได้ไปหาหมอตามนัดและหยุดยาเอง จนผ่านไประยะนึง ที่เรารู้สึกว่ายังไม่ได้หายดีหรอก แต่แค่ตอนนั้นไม่ได้มีอะไรมากระทบจิตใจหรือทำให้คิดมาก เพราะช่วงนั้นโสดและก็ไม่มีใครเข้ามา เราก็เลยอยู่แต่กับเพื่อน มันเลยทำให้เราดูเหมือนคนปกติคนนึง”
# แต่แล้วอาการซึมเศร้า…ก็กลับมาหนักอีกครั้ง
เธอเล่าว่าอาการเริ่มกลับมาอีกครั้ง ตอนที่เธอเจอกับความรักครั้งใหม่ “แฟนคนนี้มีปัญหากันเรื่องของการโกหก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบเลย การไม่ซื่อสัตย์ต่อคำพูด เลยทำให้เรามีเรื่องต้องทะเลาะกันอยู่บ่อยๆ” ฟังแล้วอาจจะดูคล้ายๆ กับเหตุการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ความจริงรอบนี้กลับหนักกว่าเดิม “คราวนี้สภาพจิตใจเราแย่มาก เราเริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งแสดงความพังนี้ผ่านการทำร้ายตัวเอง กรีดข้อมือตัวเอง ต่อยกำแพง เพื่อระบายอารมณ์ หรือบางครั้งมันก็แย่ขึ้นไปอีก ในช่วงที่เราดาวน์ลงและมีเรื่องอื่นๆ เข้ามาพร้อมๆ กัน เช่น สภาพแวดล้อมในการทำงาน คนที่ทำงาน มันเหมือนกับพายุที่โหมกระหนำเราในช่วงเวลาที่เรากำลังอ่อนแอที่สุด”
# เปิดใจกับครอบครัว…และเดินเข้าสู่การรักษาอีกครั้ง
“เรารู้ตัวเลยว่าความรู้สึกแย่ๆ มันกำลังกลับมาอีกแล้ว เราเลยตัดสินใจเลิกกับแฟนคนนี้หลังจากที่คบกันได้ประมาณ 2 ปี เราได้ลองทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้าในเว็บไซต์ของหลายๆ ที่ ผลออกมาว่าเราเข้าข่ายเป็นภาวะซึมเศร้า เราเลยตัดสินใจลองเปิดใจคุยกับแม่ว่าอยากไปหาหมอจิตเวช” ก่อนหน้านี้เธอไม่เคยคุยเรื่องนี้กับแม่มาก่อน เพราะคิดว่าไม่อยากเป็นภาระและแม่ก็คงไม่เข้าใจ แต่พอได้บอกไปมันกลับรู้สึกโล่ง และแม่ก็เป็นคนที่พาเธอไปหาหมอด้วยตัวเอง
“การรักษารอบนี้เหมือนกับเริ่มต้นใหม่ เริ่มจากการเล่าทุกอย่างให้หมอฟัง เราทำพฤติกรรมอะไรบ้าง สิ่งที่กระทบจิตใจเราและพฤติกรรมที่เราแสดงออกไป ซึ่งหมอบอกว่าภาวะซึมเศร้าของเราอยู่ในระดับที่รุนแรงพอสมควรเพราะมีการทำร้ายตัวเองแล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่การรักษาด้วยการกินยา แต่ผลปรากฎว่ามันไม่ดีขึ้น” เธอเล่าว่าหมอเริ่มปรับยาจาก 1 เป็น 2 จนตอนนี้เธอกินยาประมาณ 6 ตัว และยังมีการทานอาหารเสริมที่เข้าไปช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ซึ่งหลังจากปรับยาแล้วภาวะซึมเศร้าก็ดีขึ้นแบบชัดเจน แต่ผลข้างเคียงของยาก็คือทำให้เธอนอนหลับได้ไม่สนิท
# การรักษาที่เข้มข้นขึ้น…เผื่อหวังผลที่มากกว่า
นอกจากการทานยาแล้ว ขั้นต่อไปคือการใช้อุปกรณ์เข้าช่วย “หมอให้เราเจาะเลือดเพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด เริ่มมีการรักษารูปแบบใหม่ๆ เช่น การช็อตไฟฟ้าคลื่นสมอง โดยที่เราต้องขึ้นไปอยู่บนเตียง โดนมัดมือ มัดแขน มัดขา หมอจะเอาอะไรสักอย่างมาสวมที่หัวเรา แล้วก็ให้กัดฟันยางเอาไว้ เราจำได้ว่าตอนนั้นภาพเราตัดไปเลย รู้ตัวอีกทีก็มึนๆ งงๆ จำอะไรไม่ได้เลย เหมือนคนความจำเสื่อมไปชั่วขณะ หลงลืมความทรงจำบางอย่างไป มันอาจจะฟังดูน่ากลัว แต่มันทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เรื่องร้ายๆ หลายๆ อย่างมันหายไปจากหัวเราเยอะเลย” สรุปแล้วเธอโดนช็อตไฟฟ้าทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งหมอบอกว่าต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
# เพิ่มทางเลือกในการรักษา ด้วยศาสตร์จีนโบราณอย่างการ ‘ฝังเข็ม’
หลังจากช็อตไฟฟ้า การรักษาขั้นต่อไปที่หมอส่งเธอไปทำก็คือการฝังเข็ม ซึ่งหมอให้เธอทำ 1 คอร์ส ใช้ระยะเวลาในการรักษาทั้งหมด 20 ครั้ง “ในทางการแพทย์แผนจีนมีแนวทางในการรักษาอาการซึมเศร้าโดยใช้การฝังเข็ม และทานยาจีนควบคู่กัน โดยการฝังเข็มจะเป็นการปรับสมดุลลมปราณตับ เป็นการปรับการเคลื่อนไหวลมปราณของอวัยวะภายในและหยินหยาง รวมถึงการใช้หลักการปลุกสมองเปิดทวาร ที่ทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ทุกครั้งที่โดนเข็มปักจะมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้ามากระตุ้นด้วย นอกจากนี้ก็มีการครอบแก้วเพิ่มเติมเข้ามาด้วย”
และเมื่อร่างกายถูกเยียวยาและรักษาตามแบบฉบับทางการแพทย์ที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว เรื่องของ ‘จิตใจ’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเธอโชคดีที่มีทั้งครอบครัวและเพื่อนซัพพอร์ตอยู่ข้างๆ
# ‘พลังใจ’ สิ่งสำคัญที่ทำให้ก้าวผ่านทุกอุปสรรค
เรามีโอกาสได้คุยกับคุณแม่ ซึ่งคุณแม่ก็ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะไม่ได้มีสัญญาณอะไรให้เห็นเลย “เรารู้อีกทีคือเขามาขอให้แม่พาไปหาหมอ เราก็ยังถามกลับไปอยู่เลยว่าทำไมถึงอยากจะไป เขาก็บอกว่าเขามีภาวะแบบนี้ๆ นะ เขาก็เล่าอีกว่าตอนอยู่ที่กรุงเทพฯ เขาก็เคยไปหาหมอจิตเวชมาครั้งนึงแล้วที่โรงพยาบาลรามาฯ ก็โชคดีว่า คุณอาทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้าฯ พอดี เลยแนะนำให้ได้เจอกับหมอเฉพาะทาง ช่วงแรกที่ไปหา แม่เองก็ไม่ได้เข้าไปนั่งอยู่ในห้องตรวจด้วย แต่พอช่วงหลังๆ แม่ก็สังเกตเห็นว่าอารมณ์เขาเริ่มรุนแรงมากขึ้น เหมือนคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ คราวนี้แม่ก็เลยขอเข้าไปคุยกับหมอด้วยเลย”
คุณแม่เล่าว่าตอนแรกที่รู้ว่าลูกเป็นซึมเศร้าก็ยังงงๆ ทำตัวไม่ถูก “เราไม่คิดว่าลูกเราจะเป็น เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขารู้สึกอย่างไร กำลังมีเรื่องอะไรที่กดดันอยู่บ้าง เรามองว่าลูกเราก็เหมือนคนปกติเลย มาตอนหลังนี่แหละที่เริ่มรู้เรื่องราวต่างๆ ของเค้ามากขึ้น ก็ทำให้เข้าใจว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร แต่แม่ก็ไม่ได้มองว่าลูกแม่ไม่เหมือนคนอื่นนะ เพียงแค่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับลูกเราเท่านั้นเอง” ซึ่งตอนหลังคุณแม่ก็เริ่มเข้าหาเธอมากขึ้น เพื่อให้เธอระบายเรื่องที่ไม่สบายใจออกมาให้ฟัง “ตอนนั้นคุณหมอด้านจิตวิทยาแนะนำว่า ยิ่งทำให้เขาได้พูดกับเรามากขึ้นเท่าไหร่ จะเป็นผลดีกับตัวเขามากขึ้นเท่านั้น คือเขาไม่ต้องเก็บ และเขาก็จะไม่ต้องคิดเรื่องนั้นคนเดียว เขาอยากจะทำอะไรก็ให้เขาทำ และอะไรที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้คิดมาก อาจจะต้องใช้ความเข้มแข็ง เพื่อที่จะเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเซฟให้เขาหายแบบธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ยาในการปรับอารมณ์ตัวเอง” เพราะผลข้างเคียงของยาคือทำให้เบลอ มึน ไม่สดใสร่าเริง ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานด้วย
# ‘เพื่อนสนิท’ อีกหนึ่งกำลังใจสำคัญที่ช่วยกันประคับประคอง
“เขาก็คือเพื่อนเรา ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป เราทุกคนยังทำตัวกับเขาเหมือนเดิมเพราะเขาก็คือเพื่อนเราคนเดิมนี่แหละ ยังมีการหยอกล้อ พูดคุยกันเหมือนเดิม แต่อาจจะระมัดระวังบางอย่างหรือบางคำพูดที่อาจไปทำให้กระทบจิตใจบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการให้กำลังใจ ให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว เราพร้อมเป็นที่ระบาย เป็นที่ปรึกษาให้เสมอ ส่วนเรื่องอื่นๆ เราก็ทำเหมือนปกติ และวันนึงเมื่อเขาหายดี ทุกอย่างก็จะผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
# ประสบการณ์ที่อยากส่งต่อ…ของคนที่กำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า
สุดท้าย เธออยากจะแชร์ประสบการณ์นี้ให้กับคนที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า และเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านมันไปให้ได้ “เรารู้สึกว่าเราอยากจะแชร์ประสบการณ์ที่เราได้เผชิญมาให้คนอื่นได้รู้ว่าโรคนี้มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้หมดเลยนะ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะมีเรื่องอะไรที่ไม่สบายใจในช่วงเวลาของแต่ละคน บางคนก็มีเรื่องทุกข์ใจหลายเรื่อง บางคนเรื่องเดียวก็สาหัสแล้ว ดังนั้น อย่ากลัวที่จะไปหาหมอจิตเวชเลย ถ้าเราไปแล้วเรารู้ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า เราก็จะได้รักษา แต่ถ้าเราไม่เป็นโรคซึมเศร้า ก็ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ของเราได้”