'เจ็บนม' ใช่อาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม หรือเปล่า?

กับบางคน “เจ็บใจ” ไม่ว่า แต่ถ้า “เจ็บนม” ขึ้นมาหัวจะปวดเอาได้เหมือนกันนะ ก็จะไม่ให้ปวดหัวยังไงไหว ในเมื่อจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 13,000 คนต่อปีหรือ 35 คนต่อวัน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี แบบนี้ก็ต้องนอยด์เป็นธรรมดา แต่ก่อนที่จะกังวลจนคิดไปไกล (กว่านี้) แน่ใจแล้วนะว่าอาการ “เจ็บนม” นั้นหน่ะ เป็นอาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านมจริงๆ 



“เจ็บนม” เพราะจะเป็นมะเร็ง?
แม้ว่าอาการเจ็บนมจะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม แต่ก็มีบางรายที่ไม่พบอาการดังกล่าว มีก็แต่เพียงก้อนเนื้อที่เต้านม ซึ่งสำหรับสาวๆ ที่คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านม กลิ้งไปมาได้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ ก็อย่าเพิ่งดีใจคิดว่าไม่เป็นอะไร เพราะที่จริงแล้วก้อนที่เต้านมนั้น อาจเป็นได้ทั้ง ซีสต์เต้านม เนื้องอกเต้านม ที่ไม่ใช่เนื้อร้าย หรือมะเร็งเต้านม โดยซีสต์ที่เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน คือจะโตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังรอบเดือนมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บที่ก้อน ตรงข้ามกับเนื้องอกและมะเร็ง ที่ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยเจ็บ ไม่มีอาการแสดงให้เห็น โดยร้อยละ 90 ของมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน ไม่มีอาการเจ็บ ดังนั้นสาวๆ ที่คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านม แต่ไม่รู้สึกเจ็บก็อย่าชะล่าใจ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจจะดีกว่า

ก้อนเนื้อกับที่มา และสาเหตุของมะเร็งเต้านม
ด้วยสภาพแวดล้อม ตลอดจนสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้มีมลภาวะเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับอาหารบางประเภท ที่อาจมีสารพิษปนเปื้อนมากับอาหาร รวมถึงความเครียดภายในจิตใจ และพันธุกรรมล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือการหมั่นคอยดูแลและรักษา (ดวงใจ) เต้านมของตัวเอง ด้วยการคลำเต้านมของตัวเองขณะอาบน้ำ อย่างน้อย 1 - 2 ครั้งต่อเดือน ถ้าพบก้อนเนื้อที่เต้านม หรือความผิดปกติที่ไม่แน่ใจ ให้รีบพบแพทย์ภายใน  1- 2 สัปดาห์ เพื่อวินิจฉัย และวางแผนการรักษาต่อไป



ตรวจคัดกรอง มั่นใจ ปลอดภัย...กว่า
เพราะสิ่งที่จะช่วยสาวๆ ให้ห่างไกลจาก “มะเร็งเต้านม” ได้นั้น คือ การตรวจคัดกรอง เพื่อทำการค้นหาโรคตั้งแต่ในระยะแรกๆ และดำเนินการรักษาให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเข้ามาทำการตรวจ แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการสอบถาม ซักประวัติ  ก่อนจะตรวจเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์ การตรวจภาพเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ ตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม หากพบความผิดปกติ การรักษาอาจทำการเจาะ หรือดูดเซลล์จากถุงน้ำ หรือก้อนเนื้อ ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ หรือผ่าตัดทั้งก้อนเนื้อ พร้อมส่งตรวจวิเคราะห์เพื่อให้รู้ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด มีความเสี่ยงเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

แล้วต่อจากนี้อาการ “เจ็บนม” ก็จะไม่ทำให้ “ กังวล  (เจ็บ)  ใจ” ได้อีกต่อไป

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก! 
-->