'ธีร์ ขันธวิทย์' ผู้ให้กำเนิดตัวการ์ตูน 'ปู๊นปู๊น'และ'รอก' ส่งต่อความน่ารักและสร้างจินตนาการให้เด็กๆ



เราจะพาไปพูดคุยกับคุณ ธีร์ ขันธวิทย์ นัก Illustrator ที่สร้างตัวการ์ตูน ปู๊นปู๊น & รอก ที่จะสร้างจินตาการให้กับเด็กๆ และพาผู้ใหญ่ย้อนวัยกลับไปแห่งโลกของการ์ตูน จนเป็นที่รู้จักและได้ไปโชว์ผลงานที่ “Hong Kong International Licensing Fair 2020” นอกจากนี้ยังนำคาแรกเตอร์ต่างๆ มาสร้างเป็น เสื้อ ผ้าพันคอ หมวกทั้งของเด็กและผู้ใหญ่อีกด้วย



จาก Graphic สู่นัก Illustrator
“เริ่มต้นจากการทำ Graphic ก่อน ทำมาได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มลองสร้างคาแรกเตอร์ที่มีหมีสก๊อตตี้กับแท็งค์ เดอะบีเกิ้ล ขึ้นมาก่อน ซึ่งก็มีกลุ่มที่ชอบพอสมควร เลยพัฒนาตัวคาแรกเตอร์ให้มีเรื่องราวที่ชัดเจนขึ้น โดยการทำ Animation short film ส่งเข้าประกวดในงาน film festival ของหลายๆ ประเทศ ก็ได้คัดเลือกให้ร่วมฉายในงานและมีได้รับรางวัลบ้าง”



ทุกสิ่งรอบตัวคือแรงบันดาลใจในการสร้างคาแรกเตอร์
“สำหรับผมแรงบันดาลใจมาจากที่สิ่งที่อยู่รอบตัว ครอบครัว เพื่อน สัตว์เลี้ยง นำมาออกแบบเป็นคาแรกเตอร์ได้ทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งก็มาจากจินตนาการส่วนตัวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เอามาประกอบกันเป็นเรื่องราว”


 

“หัวใจของ Illustrator คือ ทักษะวาดภาพและจินตนาการ ซึ่งข้อหลังผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมไปถึงการสื่อสารว่าเรากำลังจะบอกอะไรกับผู้ที่ดูงานของเรา”


ทำไมถึงต้องเป็น ปู๊นๆ กับ รอก
“ปู๊นปู๊นเป็นดาวช้างที่ตกจากทางช้างเผือกลงมาบนโลก เธอได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิต ได้เจอรอกเป็นกระรอกต้นไม้ในป่าเมือง โดยตัวปู๊นปู๊นเป็นตัวแทนของโลกจินตนาการ รอกเป็นตัวแทนของโลกแห่งความจริง ซึ่งเนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับประสบการณ์ของทั้งสอง มิตรภาพความเป็นเพื่อนที่ร่วมค้นหาความไม่รู้ และช่างสงสัยของปู๊นปู๊น เพราะทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่สำหรับเธอ เหมือนกับความสงสัยของเด็ก ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดี และไม่ควรจะหายไปเมื่อพวกเราทุกคนโตขึ้น”



ปู๊นปู๊น & รอก เป็นไดอารี่แห่งจินตนาการ
“Illustrator มันมีหลายเทคนิค ส่วนตัวผมเลือกที่จะเล่ามันผ่านตัวคาแรกเตอร์โดยนำเสนอเรื่องราวที่เป็นเหมือนไดอารี่ เรื่องการเดินทางของความสงสัย ที่ทั้งสองได้เรียนรู้ เน้นเรื่องราวที่เข้าใจง่ายอ่านแล้วให้กลับมามองเรื่องราวของตัวเองและจินตนาการ”





สุดท้าย คุณธีร์ ยังฝากถึงคนที่อยากเป็น Illustrator ว่า “ทำผลงานอย่างต่อเนื่องแล้วลองหาข้อมูลหรือแบบอย่างจากงานหลายๆ ที่ อาจจะไม่ใช่จากอินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว ดูงานศิลปะทั้งที่อยู่ในหนังสือและของจริง เข้ามิวเซียมเมื่อมีโอกาส เพื่อไม่ให้ยึดติดกับการทำงานเพียงรูปแบบเดียว”

 
-->