อยากรู้มั้ย? ทำไมต้องกินคะน้า
ผักคะน้าเป็นผักที่ปลูกง่ายสามารถปลูกได้ในทุกสภาพอากาศเราจะเห็นได้ว่าไปร้านอาหารตามสั่งทีไรก็จะมีคะน้าให้เราได้กินอยู่ตลอดทั้งปี แต่ผักคะน้าจะสามารถขึ้นได้ดีในช่วงฤดูหนาวหรืออากาศเย็นๆ แม้ว่าคะน้าจะเป็นผักที่ปลูกขึ้นง่ายแต่แมลงศัตรูพืชของคะน้าก็มีอยู่เยอะพอตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนอนและเพลี้ย หลายๆ ครั้งเราจะเห็นผักคะน้าที่อยู่ในเมนูอาหารจานเดียวของเรามีรูบ้างก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะโดนแมลงกินเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับผักคะน้าที่เราเห็นในจานข้าวที่ดูเขียวสดสวยงามอาจจะต้องระวังในเรื่องยาฆ่าแมลงมากสักหน่อยเพราะผักคะน้าก็เป็นผักที่ใช้ยาฆ่าแมลงอยู่พอตัวเลยทีเดียวทำไมผักคะน้าถึงมีรสขม
ผักคะน้าเป็นผักที่มีความขมโดยตัวของมันเองอยู่แล้วถ้าเราเก็บคะน้าต้นที่แก่เกินไป แต่ส่วนใหญ่การปลูกคะน้าจะใช้ยาฆ่าแมลงอยู่แล้วเพื่อป้องกันศัตรูพืชมาเล่นงาน ซึ่งคะน้าเองเป็นผักที่มีต้นหรือก้านที่อวบตัวก้านนี้เองที่จะเป็นส่วนที่กักเก็บน้ำและยังกักเก็บหรือดูดพวกสารเคมีต่างๆ เอาไว้ด้วย จากสถิติผักที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด 10 อันดับ คะน้ากลับกลายเป็นผักอันดับที่ 2 ที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด ดังนั้นหากเรากินผักคะน้าแล้วรู้สึกมีความขมแปลกๆ ให้สงสัยได้เลยว่าอาจจะยังมีสารเคมีตกค้างอยู่ แม้ว่าในปัจจุบันมีการปลูกคะน้าแบบปลอดสารพิษกันเยอะมากขึ้น แต่เพื่อเป็นการป้องกันสารพิษตกค้างเราควรล้างเพื่อกำจัดสารเคมีก่อนเอาคะน้ามาทำเมนูต่างๆ
Tips! ล้างคะน้าด้วยน้ำปูนใสหรือใช้โซดาไบคาร์บอนเนตเพื่อล้างพิษต่างๆ ที่จะติดอยู่ลำต้นและใบแล้วตามด้วยการล้างน้ำเปล่าอีกทีหนึ่งเพื่อความสะอาด
แต่ประโยชน์ก็เพียบอยู่
ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เราถูกสอนมาว่าให้กินผักเยอะๆ จะได้โตไวไว ผักใบเขียวมักจะมีประโยชน์และแน่นอนว่าผักคะน้าก็เป็นหนึ่งในผักที่มีประโยชน์อยู่มาก สีเขียวเข้มของผักคะน้านั้นอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนหรือก็คือวิตามินที่สามารถช่วยบำรุงสายตาของเราได้ เจ้าเบต้าแคโรทีนี้ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ได้ด้วย คะน้าเป็นผักที่มีเส้นใยอยู่เยอะตัวเส้นใยนี้แหละที่ช่วยให้ระบบการทำงานลำไส้ดีขึ้นช่วยในเรื่องของการขับถ่าย ส่วนยอดคะน้าหรือใบก็มีวิตามินซีสูงช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายและยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ด้วย แต่การผัดคะน้าจะต้องไม่เอาคะน้าไปโดนความร้อนนานๆ เพราะจะทำให้วิตามินซีจากคะน้าหายไปได้
ว่าแต่...ผักคะน้าเอาไปทำอะไรได้บ้าง
ถ้าให้นึกถึงเมนูที่เอาผักคะน้าไปเป็นส่วนประกอบก็คงมีอยู่เยอะมาก มีทั้งผัดซีอิ๊ว คะน้าปลาเค็ม คะน้าหมูกรอบ คะน้าน้ำมันหอย ก๋วยเตี๋ยวหรือราดหน้าต่างๆ ฯลฯ ซึ่งคะน้าปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 31 กิโลแคลอรีแต่ก็ให้คุณประโยชน์สูงอยู่เหมือนกัน ถ้าเราจะพูดถึงการเอาคะน้าไปทำเมนู “ข้าวผัดคะน้าหมูกรอบ” เมนูสุดอ้วนแต่กลับเป็นเมนูสิ้นคิดและก็ยอดฮิตพร้อมๆ กัน ได้ความอ้วนจากน้ำมันที่เอาไปผัดแล้วยังได้ความอ้วนจากหมูกรอบด้วย แต่เราก็ได้กินคะน้าที่ปรุงรสอร่อยเค็มๆ น้ำมันหอยกลมกล่อมเหลือเกิน แล้วรู้กันหรือไม่ว่าในข้าวผัดคะน้าหนึ่งจานให้พลังงานมากถึง 392 กิโลแคลอรี และให้ไฟเบอร์หรือใยอาหารมากถึง 8 กรัม หรือประมาณ 1 ใน 3 ที่ร่างกายต้องการ (ในจำนวนผักคะน้า 500 กรัม/จาน) ซึ่งในหนึ่งวันถ้าเป็นผู้หญิงควรได้รับไฟเบอร์ประมาณ 25 กรัมและผู้ชายควรได้รับไฟเบอร์ประมาณ 38 กรัม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแม่ครัวร้านอาหารตามสั่งด้วยว่าจะให้ผักคะน้าลงมาในจานมากน้อยแค่ไหน
เอาเป็นว่าพอรู้ประโยชน์ของคะน้ากันแล้ว คราวหลังอย่าลืมเพิ่มคะน้าเข้าไปในเมนูอาหารของคุณด้วยล่ะ